การออกกำลังกายแต่ละประเภทให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ไม่เหมือนกัน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1.การออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงของระบบหัวใจ ปอดและหลอดเลือด (Cardiovascular Respiratory Exercise) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า คาร์ดิโอ ซึ่งการออกกำลังกายรูปแบบนี้จะช่วยเสริมสร้างความทนทานของระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต นั่นหมายถึงความสามารถของหัวใจหลอดเลือดและปอดที่จะนำออกซิเจนไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆของร่างกาย รวมถึงความสามารถของกล้ามเนื้อในการดึงออกซิเจนเพื่อการเผาพลาญพลังงานด้วย ตัวอย่างการออกกำลังกายประเภทนี้ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ซึ่งการออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพ ด้วยรูปแบบการออกกำลังกายนี้ควรทำให้ต่อเนื่อง ประมาณ 20-60 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และสิ่งสำคัญการทำควรไล่ระดับจากเบาไปปานกลาง เมื่อร่างกายพร้อมค่อยขึ้นไปในระดับที่หนักขึ้น
2.การออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Resistance Exercise) ถ้าหากความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ จะทำให้การทำกิจวัตรประจำวันไม่เป็นไปตามความต้องการ แม้จะไม่ทำให้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายบั่นทอนคุณภาพชีวิตได้เหมือนกัน นอกจากนี้ในผู้สูงอายุหากขาดความแข็งแรงในด้านนี้จะทำให้พลัดล้มได้ง่ายเสียสมดุลได้ง่าย เกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกแตกหักง่ายเมื่อล้ม
รูปแบบการออกกำลังกายนี้ส่วนใหญ่คนก็จะนึกถึง การยกน้ำหนักหรือเล่นเวท แต่จริง ๆแล้วการออกกำลังกายแบบแรงต้านมีหลากหลายรูปแบบ โดยอาจจะใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงต้าน อย่างการวิดพื้นหรือซิตอัพ ใช้แรงต้านจากยางยืด ใช้แรงต้านกับอุปกรณ์ภายในบ้านต่าง ๆ เช่น กระเป๋า ขวดน้ำ หรือหนังสือ การออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพ ด้วยรูปแบบการออกกำลังกายนี้แนะนำว่าควรทำให้ครบทุกส่วน สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง หรือจะใช้วิธีเล่นสลับก็ได้ คือ วันนี้เล่นส่วนหนึ่งอาจจะเป็นแขน พักหนึ่งวันและสลับกับการออกกำลังกายรูปแบบอื่นอีกหนึ่งวัน จากนั้นก็ให้มาเล่นอีกส่วนอาจจะเป็นขาแบบนี้ก็ได้
ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าการออกกำลังกาย แบบนี้ไม่จำเป็น แต่จริง ๆ มีส่วนสำคัญ เพราะจะช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อ เพิ่มการเผาผลาญขั้นต่ำให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี
3.การออกกำลังกายที่เน้นความยืดหยุ่นของร่างกาย (Flexibility Exercise) กิจกรรมออกกำลังกายประเภทนี้ได้แก่ โยคะ พิลาทิส การออกกำลังกายประเภทนี้ ดูเหมือนจะสบาย ๆ ไม่ต้องออกแรง แต่จริง ๆ แล้วก็เหนื่อยไม่แพ้การออกกำลังกายประเภทอื่นๆ เลย รูปแบบนี้ะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ต้องค่อยๆ ทำอย่างช้า ๆ จนถึงจุดที่รู้สึกตึงหรือไม่สบาย แต่ไม่ใช่เจ็บปวด การฝึกความอ่อนตัวและความยืดหยุ่นของร่างกายมีความจำเป็นสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือคนที่ต้องใช้แรงงานหนัก เพราะช่วยลดอาการบาดเจ็บและความเมื่อยล้าของร่างกายได้
ซึ่งใครจะเลือกออกกำลังกายรูปแบบไหน ก็ต้องพิจารณาความพร้อมของร่างกายตนเองด้วย ต้องดูพื้นฐานร่างกายว่ามีโรคประจำตัวไหม มีความฟิตแค่ไหน ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเริ่ม และเมื่อออกกำลังกายก็ควรเริ่มจากค่อย ๆ ปฏิบัติไปตามสภาพร่างกายของเรา ทำเบาไปหาหนัก สิ่งสำคัญก็คือ ระยะเวลา ที่เหมาะสม ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือมากเกินไปซึ่งโดยส่วนใหญ่มักไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้งและ อย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะการออกกำลังกายที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทำแบบนี้ก็จะเช้าสู่กระบวนการออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพแล้ว