เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคนอยากมีลูก

เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคนอยากมีลูก

เพราะความสุขของผู้หญิงที่กำลังจะเป็นคุณแม่ คือการที่รู้ว่าลูกน้อยในท้องปลอดภัย เจริญเติบโตด้วยพัฒนาการที่ดี ตลอดระยะเวลา 9 เดือน เชื่อว่าความรู้สึกของคุณแม่นั้นคงจะหลากหลาย มีความสุขที่มีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในร่างกาย รอคอยที่จะได้พบหน้า ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความกังวลเกิดขึ้นในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์

คู่มื่อตั้งครรภ์ แบบ “Happy Mom” by สมิติเวช ศรีนครินทร์ เล่มนี้จะช่วยให้คุณแม่ คลายความสงสัย แปรเปลี่ยนความกังวลเปลี่ยนเป็นความสุขตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ในการดูแลตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์อย่างแฮ้ปปี้นะคะ

แพ้ท้องมากลูกในท้องจะอันตรายหรือไม่

อาการคลื่นไส้อาเจียนหรือแพ้ท้องเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ครับ เป็นสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่ชื่อ Beta-hCG ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะมีระดับฮอร์โมน hCG สูงขึ้นเรื่อยๆ และจะลดลงในช่วงหลังจาก 3 เดือน ฮอร์โมนนี้จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกถึงความแข็งแรงของลูกน้อยในท้อง คือหากมีปริมาณสูงก็จะยิ่งบอกว่าทารกมีความแข็งแรงมาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์แฝดฮอร์โมน hCG จะสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว เพราะรกจะมีขนาดใหญ่กว่า

คุณแม่ที่มีอาการแพ้ไม่มากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารช่วยได้ครับ คือจากที่เคยรับประทานอาหารครั้งละมากๆ จาก 3 มื้อหนักๆ ก็ปรับเป็น 5-6 มื้อ คือเปลี่ยนเป็นปริมาณครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ แทนจะดีกว่าครับ และไม่ปล่อยให้ท้องว่างหรือหิวจนเกินไป

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือคุณแม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยง คืออาหารที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน รวมทั้งอาหารที่มีกลิ่นฉุนหรือของทอดของมัน
เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้วคุณแม่จะอาการดีขึ้นครับ แต่หากเป็นมากขึ้นควรไปพบคุณหมอ ซึ่งคุณหมออาจให้ยา เช่น Dramamine หรือวิตามิน บี 6 ซึ่งยา Dramamine มารับประทาน ยานี้อาจส่งผลให้คุณแม่มีอาการง่วงได้ครับ

เคล็ดลับแก้อาการแพ้ท้อง ขิงสามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่าน้ำขิงสามารถช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ แต่ถ้ามีอาการแพ้มากจนกินอะไรไม่ได้เลยแม้กระทั่งน้ำ และมีอาการอ่อนเพลียมาก ก็ควรนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล คุณหมอจะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นใน 1-2 วันครับ

  • การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น ครรภ์ไข่ปลาอุก จะทำให้มีความผิดปกติของเนื้อรกทำให้ระดับฮอร์โมน hCG สูงมากผิดปกติ ทำให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มากผิดปกติเช่นกันครับ
  • ถ้าอายุครรภ์ 8 เดือนแล้วกลับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอีก อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น มีภาวะการทำงานของลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน อาหารเป็นพิษ หรือมีระบบไหลเวียนในร่างกายผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากมดลูกกดทับเส้นเลือดใหญ่ในอุ้งเชิงกราน ทำให้เลือดไหลกลับหัวใจไม่สะดวก เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงสมองไม่เต็มที่
    จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่ายืนหรือนั่งนานๆ เพื่อไม่ให้มดลูกกดทับเส้นเลือดนานเกินไป แต่ถ้าอาการไมดีขึ้นควรไปพบคุณหมอครับ

ควรไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี

การฝากครรภ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ดังนั้น เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงต่างๆ ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ รวมทั้งตรวจความผิดปกติ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์มากมาย เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์ที่ปกติในโพรงมดลูก ไม่ใช่การตั้งครรภ์ที่ปีกมดลูก การตรวจดูภาวะท้องลม

ถ้าผลการตรวจเลือดหรือตรวจร่างกาย หรือการตรวจอัลตราซาวนด์พบความผิดปกติ แพทย์จะได้รีบให้การรักษา หรือมีเวลาในการตรวจเพิ่มเติมได้ เช่น การตรวจทาลัสซีเมีย หรือการเจาะตรวจน้ำคร่ำในกลุ่มตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง เป็นต้น

กรณีที่คุณแม่มีอายุมากตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวาน หรือคุณหมออาจแนะนำเรื่องการตรวจคัดกรองหรือวินิจฉัยทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติ รวมถึงเรื่องการปฏิบัติตัวและการเตรียมหัวนมเพื่อให้ลูกดูดนมในช่วงหลังคลอดด้วยครับ

นอกจากนี้คุณแม่จะต้องได้ยาโฟลิกไปรับประทานเพื่อป้องกันภาวะไขสันหลังและสมองพิการในทารก และอาจจะได้รับยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องในช่วงแรกด้วย คุณแม่ที่มีประวัติแท้งมาบ่อยๆ คุณหมอจะให้ยาป้องกันการแท้งทันทีที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรรีบฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ครับ

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งมือเก่าและมือใหม่ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานในการตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะการตรวจความผิดปกติของหัวใจทารกในครรภ์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือที่เรียกว่า Maternal Fetal Medicine Doctor เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากที่สุด

โฟลิกสำคัญอย่างไร ต้องกินทุกวันหรือไม่

โฟลิกหรือโฟเลต มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเซลล์ต่างๆ สรุปก็คือ กรดโฟลิกหรือโฟเลต มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์และซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก มีผลต่อพัฒนาการการสร้างเซลล์ระบบประสาทสมองและไขสันหลัง สามารถป้องกันโรค ความผิดปกติ หรือความพิการของระบบประสาทสมองและไขสันหลังได้ เช่น โรคทารกที่ไม่มีกระโหลกศีรษะ (Anencephaly) หรือมีรูเปิดที่ไขสันหลัง (Spina bifida)

หลังจาก 3 เดือน ความต้องการปริมาณโฟลิกจะน้อยลง อาจไม่จำเป็นต้องกินต่อ คุณหมอบางท่านอาจให้กินต่อเพื่อช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดง ซึ่งโดยมากมักมีโฟลิกรวมอยู่ในเม็ดยาธาตุเหล็ก

สำหรับคุณแม่ที่วางแผนว่าจะตั้งครรภ์ ต้องได้รับโฟลิกทุกวันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ (ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์) หรือรับประทานอาหารที่มีโฟลิก เช่น ผักใบเขียว ข้าวกล้อง ถั่วแดง และผลไม้ ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอค่ะ

ทำฟันตอนท้องอันตรายหรือไม่ ต้องระวังเรื่องใด

ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะหิวและรับประทานอาหารบ่อยขึ้น ทำให้น้ำตาลหรือเศษอาหารไปเกาะอยู่ตามซอกฟันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องและอาเจียน ทำให้มีกรดออกมาจากกระเพราะอาหาร และเศษอาหารที่รับประทานเข้าไปซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ออกมาติดอยู่ตามซอกฟัน ก็ทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน จะสูงขึ้นส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆ โดยเฉพาะเหงือกในช่วงปากนุ่ม ทำให้อักเสบและเลือดออกง่าย ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและไม่กล้าแปรงฟัน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฟันผุ

คุณแม่ท้องควรไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากละเลยปัญหาเหงือกอักเสบหรือฟันผุไว้นานเกินไป อาจจะสายเกินแก้ ช่วงเวลาปลอดภัยที่คุณแม่สามารถไปตรวจสุขภาพและรับการรักษาทางทันตกรรมคือ ในระยะการตั้งครรภ์ 4 – 6 เดือน แต่หากการขูดหินปูนหรือถอนฟันที่ทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าอาจทำให้เสียเลือดมากจนเกิดอันตราย ก็จะพิจารณาเลื่อนไปทำในช่วงหลังคลอดแทน

แต่กรณีที่มีความจำเป็นก็อาจพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะคนท้องมีเส้นเลือดที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเลี้ยงเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย เหงือกของคุณแม่จึงมีเลือดคั่ง แค่การแปรงฟันปกติก็อาจพบว่ามีเลือดออกได้ ซึ่งคุณหมอแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์แปรงฟันเบาๆ และใช้แปรงที่มีขนนุ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์

ดังนั้นคุณแม่เตรียมตัวจะตั้งครรภ์ควรรับคำปรึกษา การดูแลช่องปากจากทันตแพทย์ไว้เสียแต่เนิ่นๆ และหากจำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ควรแจ้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ เพราะกรณีที่มีความจำเป็นต้องเอ็กซเรย์ คุณหมอจะพิจารณาทำเท่าที่จำเป็น รวมทั้งป้องกันด้วยการใส่เสื้อตะกั่วกันรังสี รวมทั้งการจ่ายยาในกลุ่มที่มีความปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ด้วยครับ

กำลังตั้งครรภ์มีเซ็กซ์ได้ไหม

คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะกังวลว่าหากจะต้องมีเซ็กซ์ กลัวว่าลูกในท้องจะเป็นอันตราย ประกอบกับเป็นช่วงที่มีอาการแพ้ท้อง จึงลืมนึกถึงเรื่องที่จะต้องกุ๊กกิ๊กกับคุณสามีไปเลย ซึ่งการมีเซ็กซ์ในช่วงตั้งครรภ์ไม่มีข้อห้ามหากคุณแม่มีการตั้งครรภ์ที่ดำเนินไปอย่างปกติ
แต่ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ปกติ ห้ามมีเซ็กซ์ เช่น มีประวัติแท้ง มีภาวะรกเกาะต่ำ มีเลือดออก มีประวัติการคลอดหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด มดลูกบีบรัดตัว ตั้งครรภ์แฝด ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด สามีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางโรคเพศสัมพันธ์ หรือกรณีที่แพทย์สั่งห้ามก็ควรงดนะคะ
สำหรับการตั้งครรภ์ในช่วงแรกๆ เลือกท่าที่คุณแม่รู้สึกสบาย คือในช่วงที่ท้องยังไม่โต แต่หากท้องเริ่มโตควรเลือกท่าที่เหมาะสม ท่าที่เหมาะสมอาจเป็นท่าที่ทั้งสองฝ่ายนอนตะแคงหันหน้าเข้าหากัน โดยฝ่ายหญิงอยู่ด้านหน้า ฝ่ายชายอยู่ด้านหลัง หรือให้ฝ่ายหญิงอยู่ด้านบน ฝ่ายชายอยู่ด้านล่าง หรือให้ฝ่ายหญิงนั่งบนตักฝ่ายชาย (ท่าที่ห้ามคือคุณสามีอยู่ด้านบน)
การมีเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ต้องยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็อย่าฝืนหากร่างกายและจิตใจยังไม่พร้อม ขณะที่คุณสามีก็ต้องปฏิบัติอย่างนุ่มนวลทะนุถนอมด้วยนะคะ

Ultrasound ทำบ่อยๆ ได้มั้ย ปลอดภัยหรือเปล่า

อัลตราซาวนด์คือ คลื่นเสียงความถี่สูงกว่าที่หูคนเราจะได้ยิน เป็นคลื่นที่มีความถี่เกินกว่า 20,000Hz (ปกติเราสามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่ระหว่าง 20-20,000Hz) ส่วนลูกน้อยในท้องก็ไม่ได้ยินเช่นกัน การอัลตราซาวนด์นั้นไม่อันตราย เพราะไม่ใช่การเอ็กซเรย์ที่ต้องสัมผัสกับรังสี จากการใช้อัลตราซาวนด์มานานเกือบ 50 ปี ยังไม่มีรายงานว่าทารกในครรภ์ได้รับอันตรายจากการอัลตราซาวนด์ และสามารถทำบ่อยได้เท่าที่ต้องการหรือมีความจำเป็น (แต่ก็ควรทำในกรณีที่คุณหมอแนะนำ)

การทำอัลตราซาวนด์มีความสำคัญใน 3 ช่วงหลักๆ คือ

  • ในไตรมาสแรกประมาณ 6-12 สัปดาห์ เพื่อยืนยันอายุครรภ์
  • ในไตรมาสที่ 2 ช่วงอายุครรภ์ 16-22 สัปดาห์ เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ
  • ในไตรมาสที่ 3 ช่วงอายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ เพื่อประเมินการเจริญเติบโตและสภาพแวดล้อม เช่น รก ปริมาณน้ำคร่ำ รวมถึงสุขภาพทารกในครรภ์

อัลตราซาวนด์ 2 มิติ ลักษณะของภาพจะเป็นความกว้างและความยาว เป็นภาพตัดตามแนวของคลื่นเสียง
อัลตราซาวนด์ 3 มิติ คือการนำภาพ 2 มิติแต่ละภาพมาประกอบกัน โดยเครื่องจะประมวลภาพและสร้างเป็นภาพ 3 มิติ เป็นภาพเสมือนจริง มีความลึกของภาพ
อัลตราซาวนด์ 4 มิติ เป็นการนำภาพ 3 มิติแต่ละภาพ แสดงผลเป็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนจริงมากขึ้น เคลื่อนไหวได้เหมือนภาพถ่ายจากวิดีโอ

American College of Obstetricians and Gynecologists แนะนำถึงข้อบ่งชี้ในการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในคุณแม่ตั้งครรภ์ดังนี้

  • เพื่อยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์จริง และการตั้งครรภ์นั้นอยู่ภายในหรือภายนอกมดลูก
  • ยืนยันอายุครรภ์ ในกรณีที่คุณแม่จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้
  • กรณีที่คุณแม่มีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ประเมินการเติบโตของทารกในครรภ์
  • ตรวจดูว่าเป็นครรภ์แฝดหรือไม่
  • ดูท่าของทารกในครรภ์
  • ตรวจดูว่าตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่
  • ตรวจดูทารกยังมีชีวิตอยู่

ภาวะแท้งคุกคามคืออะไร

แท้งคุกคาม คืออาการที่มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ และเลือดออกไม่มาก ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยร่วมกับการอัลตราซาวนด์พบการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์

สาเหตุของการแท้งคุมคามมักเกิดจาก ความพิการของทารกแต่กำเนิด ความผิดปกติของโครโมโซม การตั้งครรภ์โดยไม่มีตัวอ่อน ความผิดปกติของมดลูก หรือไม่ทราบสาเหตุ

โดยโอกาสของการตั้งครรภ์ต่อและการแท้งมีอย่างละครึ่ง (50:50) ถ้าเลือดหยุด การตั้งครรภ์ก็สามารถดำเนินต่อได้ตามปกติ แต่ถ้ายังมีเลือดออกอยู่เรื่อยๆ ร่วมกับอาการปวดบีบท้องน้อยก็อาจมีการแท้งตามมาได้ค่ะ

ดังนั้น ระยะนี้แพทย์ส่วนใหญ่จะให้หยุดงานเพื่อนอนพักให้มากที่สุด โดยงดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น โดยคุณหมอบางท่านอาจให้การรักษาโดยใช้ยาฮอร์โมนในกลุ่ม Progesterone ที่เรียกว่ายากันแท้ง ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาฉีดและยากิน

เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้ในยามจำเป็น อย่างเช่นหากเกิดภาวะฉุกเฉินหรืออาการผิดปกติขึ้น ในช่วงเวลากลางคืน มีโรงพยาบาลใดบ้างที่มีสูติ-นรีแพทย์เฉพาะทางคอยตรวจรักษาตลอด 24 ชั่วโมง คุณแม่จะได้มั่นใจว่าได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

คลอดเองกับผ่าคลอดต่างกันอย่างไร

คลอดเอง องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งเสริมให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลอดเองทางช่องคลอด (Normal labor) ให้มากที่สุด สำหรับการผ่าตัดคลอดพิจารณาทำในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถคลอดเองได้ เนื่องจากพบว่าการคลอดเองทางช่องคลอด จะมีการเสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า เลี้ยงดูบุตรได้เร็วกว่า และค่าใช้จ่ายในการคลอดก็ถูกกว่า ซึ่งพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ประมาณร้อยละ 80-85

การคลอดเองจะเกิดความเจ็บปวดในขณะคลอดมากกว่าการผ่าคลอด แต่จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วความเจ็บปวดทั้งหมดจะหายไป และสามารถให้นมแม่ได้เร็ว จึงทำให้กระบวนการเริ่มต้นของนมแม่ดีไปด้วย

ผ่าคลอด การผ่าคลอดคุณแม่จะได้รับยาสลบหรือการบล็อกหลัง ขณะคลอดจึงไม่เจ็บ แต่หลังจากหมดฤทธิ์ยา จะมีอาการเจ็บแผลผ่าตัดหลายวัน โดยข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดส่วนใหญ่คือ การผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะลูกกับอุ้งเชิงกรานแม่ หรือหัวเด็กใหญ่กว่าเชิงกรานแม่จึงไม่สามารถคลอดออกมาได้ ภาวะรกเกาะต่ำขวางทางคลอด การที่เด็กไม่กลับหัวอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น เอาก้นลง หรืออยู่ในท่าขวาง กรณีที่คุณแม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ หรือมีน้ำเดินก่อนกำหนด

ไม่ว่าจะเป็นการคลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอด ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การดูแลการฝากครรภ์ที่เหมาะสมอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ และเลือกวิธีคลอดที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ

OB Stat Team หลายท่านอาจจะเคยได้ยินนคำนี้มาบ้าง แต่หลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นกับคำนี้ OB Stat Team คือทีมผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน ที่ประกอบด้วยทีมสูติ-นรีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาทารกแรกเกิด และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่สามารถ ทำการผ่าตัดคลอดในภาวะฉุกเฉินได้ภายในเวลา 20 นาที หลังจากสูติแพทย์ ลงความเห็นแล้วว่าคุณแม่ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถให้บริการด้านนี้ได้

  • ปัจจุบันการผ่าตัดคลอดนิยมใช้วิธีการบล็อกหลังมากกว่าการดมยาสลบ เพราะแก๊สดมยาสลบสามารถผ่านเข้าไปกดการหายใจของลูกได้ ทำให้เด็กคลอดออกมาอาจมีปัญหาการร้องและการหายใจ จึงใช้แค่ในกรณีฉุกเฉินหรือมีข้อห้ามต่อการบล็อกหลัง
  • มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันว่า การบล็อกหลังไม่ได้ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังในอนาคต แต่ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของคุณแม่เอง เช่น การอุ้มให้นมลูก หรือการยกของหนัก ยกผิดท่า

ว่าที่คุณแม่ควรจะเลือกโรงพยาบาลที่มีความมั่นใจได้ในการบริการ มีแพทย์เฉพาะทางด้านสูติ นรีเวช กุมารแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีทีมสูติฉุกเฉิน (OB STAT TEAM) ซึ่งสามารถทำการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้เด็กคลอดอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่เกิน 20 นาที และทุกครั้งของการคลอดไม่ว่าจะเป็นการคลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์เป็นผู้มารับเด็ก จะทำให้สามารถดูแลทารกแรกเกิดทุกคนได้อย่างดี นอกจากนี้ควรมีกุมารแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา สำหรับรองรับในกรณีที่ทารกมีปัญหาต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ

ทำไมบางคนท้องแล้วไม่อ้วน หลังคลอดลดน้ำหนักได้เร็ว

น้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติควรขึ้นประมาณ 12-15 กิโลกรัม ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงคลอด และควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินให้พออิ่ม แบ่งเป็นหลายมื้อได้ เพื่อให้ร่างกายย่อยอาหารได้ง่าย และเผาผลาญพลังงานได้หมด

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดูไม่อ้วน อาจเป็นเพราะก่อนท้องคุณแม่อาจตัวเล็ก คือเรียกว่าต้นทุนเดิมน้ำหนักน้อยอยู่แล้ว พอท้องก็เลยดูว่ารูปร่างยังดี

แต่หากคุณแม่มีภาวะน้ำหนักตัวลดลงในช่วงของการฝากครรภ์ แพทย์มักต้องหาสาเหตุของน้ำหนักที่หายไป ซึ่งการที่น้ำหนักขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างกัน เช่น น้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ งานที่ทำ การพักผ่อน โรคประจำตัวต่างๆ

อาหารที่เหมาะสมสำหรับคนท้องคืออาหารจำพวกเนื้อปลาเพราะมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ดีต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกค่ะ

จะคลอดวันไหน นับอย่างไร

ในทางการแพทย์ มักจะนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ โดยนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรกของครั้งสุดท้าย การคำนวณวันครบกำหนดคลอด คือ 40 สัปดาห์ (280 วัน) และทารกในครรภ์จะครบกำหนดคลอดได้เมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ (259 วัน) เป็นต้นไป การคำนวณวันครบกำหนดคลอดอย่างง่ายๆ คือ นับวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย + 7 วัน – 3 เดือน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาวันที่ 1 ตุลาคม 2555 กำหนดวันคลอดคือ 8 กรกฏาคม 2556 (คือ + 7 วัน และนับย้อนเดือนถอยหลังไป 3 เดือน)
อายุครรภ์จะถูกต้อง ถ้ามีการตกไข่และปฏิสนธิ 14 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย

การคลอดก่อนกำหนด คือการคลอดก่อนจะครบ 38 สัปดาห์ ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอันตรายมากขึ้นเท่านั้น
การคลอดก่อนกำหนด แบ่งออกเป็น การคลอดก่อนกำหนดที่เกิดขึ้นเอง และการคลอดที่แพทย์เร่งคลอดหรือผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยชีวิตมารดาและทารกจากภาวะแทรกซ้อน

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่ออายุครรภ์น้อยๆ ส่วนหนึ่งไม่รอดชีวิต ในรายที่รอดชีวิตก็อาจมีปัญหาสุขภาพระยะยาวตามมา อาทิ พิการ เชาว์ปัญญาต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแอ มีปัญหาหัวใจและระบบหายใจ รวมถึงประสาทสมองพฤติกรรมและปัญหาทางจิตใจ ตาบอด เนื่องจากระบบต่างๆยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้อาจมีโรคประจำตัว

อาการแบบนี้ใกล้คลอด

  • การมีเลือด หรือมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด
  • การมีน้ำเดิน (น้ำใสๆ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คล้ายปัสสาวะราด) หรือการมีท้องแข็งเป็นจังหวะสม่ำเสมอ และอาการเจ็บท้องน้อย ถ่วงท้อง อาการปวดถ่วงลงก้น คล้ายอาการปวดถ่ายอุจจาระ
  • อาการที่คุณหมอพบมากที่สุดคือ ท้องแข็งเป็นสัน โดยจะแข็งทั่วท้อง (ถ้าแข็งแค่ข้างใดข้างหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของท้อง คือการโก่งตัวของลูก) จะมีจังหวะสม่ำเสมอ และแนวโน้มถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าแข็งมากขึ้น อาจมีอาการมูกเลือด หรือน้ำเดินตามมาได้
  • โดยปกติถ้ามีการแข็งตัวทุกๆ 5-10 นาทีอย่างสม่ำเสมอ ควรมาพบแพทย์

หากมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน บวมตามมือตามเท้า และใบหน้า ซึ่งเป็นอาการสำคัญของ “ครรภ์เป็นพิษ” ที่มักจะพบในการตั้งครรภ์แรก ตั้งครรภ์แฝด ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (เกิดจากการเจริญของเนื้อเยื่อรกที่มากผิดปกติ ส่วนใหญ่ท้องจะโตเหมือนคนท้องแต่ไม่มีเด็ก เมื่อรกลอกออกมาหรือเลือดออกทางช่องคลอดจากเห็นก้อนๆเล็กๆของรกออกมาเหมือนไข่ปลา) และในหญิงที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไตอยู่ก่อน ต้องรีบมาพบแพทย์เช่นกันค่ะ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?