การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพองในช่องท้อง

กรณีของ Mr.Andrea Stafforte

อายุ 59 ปี น้ำหนัก 150 กก. มีผนังหน้าท้องที่หนามากและเป็นคนสูบบุหรี่จึงทำให้ปอดไม่แข็งแรง หากผ่าตัดแบบใหญ่จะมีโอกาสเสี่ยงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก จึงต้องทำการผ่าตัดแบบเล็ก และนอกจากมีภาวะหลอดเลือดแดงในช่องท้องโป่งพองแล้ว ยังมีภาวะลอกตัวของผนังหลอดเลือดแดงที่ขาข้างซ้ายที่ไปเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย จึงต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลอดเลือดอีกท่านหนึ่งเข้ามาช่วยดูแลคือ นายแพทย์อนุชิต รวมธารทอง เพื่อทำการอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ก่อนทำการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมในช่องท้อง ซึ่งถือเป็นเคสที่ยากมาก

อาจารย์อนุชิตกล่าวว่า “หน้าที่หลักคือการเคลียร์ทางให้กับอาจารย์คามิน ก่อนที่เราจะวางท่อใหม่ ก็ต้องกำจัดสิ่งกีดขวาง ปิดซอยเล็ก ซอยน้อย เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมออกนอกทางที่เราไม่ต้องการ การวางท่อใหม่ก็ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการรักษาของอาจารย์คามินต้องทำการสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง เมื่อหลอดเลือดที่ขาโป่งพองจึงทำให้มีพื้นที่เหลือเยอะการเดินท่อจึงโคลงเคลงและยากขึ้น และหากปล่อยให้โป่งพองอยู่อย่างนั้นก็มีโอกาสแตกและรั่วซึม จะยิ่งทำให้การผ่าตัดรักษายากยิ่งขึ้น จึงต้องทำการปิดหลอดเลือดด้านที่โป่งพองเสียก่อน โดยการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานด้านหนึ่งอย่างถาวร ซึ่งเมื่ออุดแล้วร่างกายสามารถใช้อีกด้านหนึ่งแทนได้ไม่มีปัญหา เนื่องจากเลือดที่มาเลี้ยงอุ้งเชิงกรานมาจากขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสามารถไหลอ้อมเข้ามาหากันได้ เมื่อทำเช่นนี้ก่อนจึงทำให้การผ่าตัดรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ”

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง เป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูงแต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ อย่าคิดว่าแค่โป่งพอง แต่ไม่แตกก็ใช้ชีวิตกันไปอย่างลุ้นๆ ซึ่งคงไม่สนุกเหมือนกับการลุ้นรางวัลแจกพ็อตเป็นแน่ การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ เพื่อป้องกันการแตกของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พร้อมการตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง ตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ก่อน ไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงนะคะ

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพองในช่องท้อง

โชคดีที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยี และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย บวกกับประสบการณ์ของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองลดลงได้ เนื่องจากหากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แต่ไม่รู้ตัว ปล่อยทิ้งไว้รอวันที่มันแตก เหมือนราวาที่รอการปะทุได้ทุกเมื่อ ตามสถิติแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงประมาณ 50-90% แต่หากเรารู้ก่อน รักษาก่อน โอกาสเสียชีวิตจะเหลือเพียงประมาณ 5% ไอเกิล ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์คามิน ชินศักดิ์ชัย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือด โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มาให้ความรู้ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง

หลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) เปรียบเสมือนท่อประปาหลัก ที่ส่งผ่านน้ำไปยังบ้านต่างๆ หลอดเลือดก็เหมือนท่อน้ำที่นำทางให้เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยะสำคัญต่างๆ ทั่วร่างกาย เริ่มต้นจากหัวใจสูบฉีดเลือดไหลผ่านลงมาทางหน้าอก ผ่านกระบังลม เข้าไปยังช่องท้อง หัวเหน่า จนถึงสะดือ แล้วจึงแยกออกเป็น 2 สาย เพื่อไปเลี้ยงขาทั้ง 2 ข้าง และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือด หรือหลอดเลือดปริแตก แทนที่เลือดจะไหลไปตามหลอดเลือด หรือท่อทางที่กำหนด เลือดก็ไหลรั่วออกด้านข้างหมด ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงอวัยวะอื่นๆ ได้ จึงทำให้เกิดการเสียชีวิต เหมือนกับท่อน้ำประปาที่แตก น้ำก็ไหลนองท่วมบ้านทำให้เสียหาย

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง คือ ภาวะหลอดเลือดแดงที่อยู่ในช่องท้องขยายใหญ่หรือโป่งพองขึ้นกว่าปกติคือมากกว่า 1.5-2 ซม. สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแดงโป่งพองได้คือ คนที่สูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง และเกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งพบมากในผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ความน่ากลัวของโรคนี้คือ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใดๆ นำมาก่อน เมื่อมีอาการนั่นอาจหมายถึงหลอดเลือดนั้นแตกหรือกำลังจะแตกแล้ว อาการที่สังเกตเห็นคือ ปวดท้องร่วมกับปวดหลัง เนื่องจากหลอดเลือดจะอยู่ด้านหลังช่องท้อง คลำเจอก้อนที่เต้นได้ในช่องท้อง แต่ในผู้ป่วยบางรายที่อ้วนมากจะไม่สามารถคลำเจอเนื่องจากมีผนังหน้าท้องที่หนา

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ โป่งพองในช่องท้อง

หากพบการโป่งพองไม่เกิน 5 เซนติเมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ไม่ต้องทำการผ่าตัดรักษา แต่ต้องตรวจสุขภาพและมาพบแพทย์เป็นประจำ ร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หากโป่งพองมากกว่า 3 เซนติเมตร ต้องตรวจทุกปี โป่งพองมากกว่า 4 เซนติเมตร ต้องตรวจทุก 6 เดือน โป่งพอง 5 เซนติเมตรขึ้นไป ควรพบศัลแพทย์หลอดเลือดเพื่อหาแนวทางการป้องกันและรักษาแต่เนิ่นๆ แต่ในกรณีที่โตเร็วมากกว่า 5 มิลลิเมตรใน 6 เดือน หรือ 1 เซนติเมตรใน 1 ปี หรือโป่งพองมากกว่า 5.5 เซนติเมตร ขึ้นไปจะมีโอกาสแตกได้มาก จึงเป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนั้นมี 2 แบบคือ

การผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า การผ่าตัดแบบใหญ่ เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐาน แพทย์ต้องวางยาสลบ เปิดแผลใหญ่ ตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงหัวเหน่า แล้วใส่หลอดเลือดเทียมทดแทนหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง ผลการรักษาในระยะยาวดี แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดนาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียม Endovascular Aneurysm Repair ที่เรามักเรียกว่าผ่าตัดแบบเล็ก คือการสอดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด (Stent Graft) ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง เพื่อสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปใส่แทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องช่องท้อง เป็นทางเลือกใหม่ ที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แผลผ่าตัดขนาดเล็ก ไม่ต้องวางยาสลบ ลดอัตราการเสี่ยงและการให้เลือด ผลในระยะสั้นและระยะกลางยังมีประสิทธิภาพดี แต่ต้องมาพบแพทย์บ่อยเพื่อติดตามผลในระยะยาว ซึ่งอัตราการเสียชีวิต ภายใน30 วันของการผ่าตัดเล็กในกลุ่มหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องที่ไม่มีอาการ มีเพียงประมาณ 1-1.5% ซึ่งน้อยกว่าแบบใหญ่ถึง 3เท่า

การพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ป่วยและลักษณะกายวิภาคของหลอดเลือด สำหรับคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และมีร่างกายที่แข็งแรง มีแนวโน้มทำการผ่าตัดใหญ่มากกว่า แต่หากเกิน 70 ปีขึ้นไป มักจะแนะนำให้ผ่าตัดแบบเล็กมากกว่า แต่หากอายุน้อยกว่า 60 ปีก็จริง แต่” สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคร่วมมาก เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอด และต้องการอยู่โรงพยาบาลไม่นาน มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ก็ต้องทำการผ่าตัดแบบเล็ก ซึ่งแพทย์จะทำการพิจารณาเป็นรายๆไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?