ปัญหาสุขภาพของ Millennials

ปัญหาสุขภาพของ Millennials

HIGHLIGHTS:

  • Millennials [มิลเลนเนียม หรือ Gen Y] เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มว่าเมื่อพวกเขาก้าวถึงวัยกลางคนจะมีความสุขและสุขภาพดีน้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่
  • คนเจนวายส่วนใหญ่ มักเลือกทำงานโดยเน้นการทำงานอยู่บ้านหรือฟรีแลนซ์มากขึ้น การนั่งทำงานโดยไม่ได้ขยับร่างกาย การพักผ่อนคือการท่องโลกอินเทอร์เน็ต และสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน จึงเป็นเหตุให้สุขภาพร่างกายถดถอยเมื่ออายุมากขึ้นแบบไม่รู้ตัว

Millennials (มิลเลนเนียม) หรือคน Gen Y (Generation Y) เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1981-1997 ซึ่งการวิจัยพบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มว่าเมื่อพวกเขาก้าวถึงวัยกลางคนจะมีความสุขและสุขภาพดีน้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่

เหตุแห่งทุกข์และสุขภาพแย่

เนื่องจากคนยุคมิลเลนเนียมเกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปล ทางการเมืองหลายครั้งทั่วโลก รวมถึงมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย เรียกได้ว่าตลอดชีวิตของคนเจนวายพบเจอแต่การแข่งขัน ตั้งแต่การศึกษาไปจนถึง หน้าที่การงาน ตลอดจนการหาบ้านที่มั่นคงเป็นของตนเอง

เมื่อเติบโตผ่านมาจวบทุกวันนี้ คนเจนวายส่วนใหญ่จึงมีความมั่นใจสูง มักเลือกทำงานที่ตนชอบ โดยเน้นการทำงานอยู่บ้านหรือฟรีแลนซ์มากขึ้น ทั้งนี้ยังเลือกที่จะมีความสัมพันธ์ผ่านโลกโซเชียลมากกว่าการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง

เมื่อต้องเรียนหนัก ทำงานหนัก และเป็นกังวลเรื่องการมีที่อยู่อาศัยและชีวิตที่มั่นคง อีกทั้งการทำงานอย่างโดดเดี่ยว และใช้การสื่อสารทางเดียวไปในโลกเสมือนจริงเป็นเวลานาน ทำให้ชาวมิลเลนเนียมมีความเครียดสะสม รวมถึงการนั่งทำงานโดยไม่ได้ขยับร่างกาย การพักผ่อนคือการท่องโลกอินเทอร์เน็ต และเป็นกลุ่มคนที่ใช้เงินไปกับการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมากที่สุด เป็นเหตุให้สุขภาพร่างกายถดถอยเมื่ออายุมากขึ้นแบบไม่รู้ตัว

โรคของชาวมิลเนเนียมและการป้องกัน

1. ความป่วยไข้ทางจิตใจ

อัตราการป่วยทางจิตของชาวมิลเลนเนียมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของบริษัทประกันสุขภาพชื่อดังในสหรัฐอเมริกา พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 อัตราการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าของคนเจนวายมีมากถึง 19% ขณะที่คน Gen X มี 14% และเพียง 12% ในคนยุค Baby Boomers

ทั้งนี้การป้องกันอาการทางจิตทำได้โดยหมั่นสังเกตภาวะทางใจของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน หากมีความเครียดอาจลองพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือปรึกษาแพทย์ รวมถึงการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดภาวะโรคติดต่อเรื้อรังบางชนิด ซึ่งส่งผลต่อจิตใจในอนาคต

2. การสูญเสียการได้ยิน

เป็นที่ทราบกันดีว่าอุปกรณ์การฟังเสียงส่วนบุคคลหรือหูฟังนั้นมีผลกับการได้ยิน โดยเฉพาะเมื่อเสียบหูฟังไว้ตลอดเวลา รวมถึงเปิดระดับเสียงไว้ดังเกินมาตรฐาน แม้ในปัจจุบันจะมีการปรับปรุงและมีความปลอดภัยมากขึ้นแล้วก็ตาม

แต่ชาวมิลเลนเนียมผู้เติบโตมากับโทรศัพท์มือถือ หรือ “The iPod Generation” ยังใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเสียบหูฟังแบบเก่า จนอาจถูกขนานนามให้ใหม่ว่า “Generation Deaf”

อาการจากภาวะหูดับเนื่องจากใช้หูฟังนานเกินไปหรือผิดวิธี คือมีเสียงดังหึ่งๆ ในหู ปวดหู หรือบางครั้งอาจไม่ได้ยินเสียงพูดแม้จะอยู่ไม่ไกลก็ตาม แต่อาการดังกล่าวสามารถรักษาให้หายและป้องกันได้ โดยการเปิดระดับเสียงอยู่ที่ประมาณ 60% และฟังนานคราวละ 60 นาที (กฎ 60/60) หากมีความผิดปกติในการได้ยินควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาได้ทันท่วงที

3. โรคอ้วน

มีหลักฐานการวิจัยพบว่าคนที่เกิดยุคมิลเลนเนียมมากกว่า 70% มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ซึ่งเมื่อเทียบกับคนกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ หรือรุ่นพ่อแม่ของตัวเอง ซึ่งอ้วนขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนเพียง 50% เท่านั้น

นอกจากคนเจนวายจะเติบโตมากับอาหารขยะ หรือยุคของอาหารฝรั่งที่ถาโถมเข้ามาในประเทศไทย แต่คนเจนวายก็เป็นผู้นำเทรนด์การกินอาหารเพื่อสุขภาพแบบต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามการกินอาหารที่ถูกต้องคือการกินอย่างพอเหมาะ โดยเลือกรับประทานผักผลไม้ เน้นอาหารที่มีกากใยสูง รวมถึงธัญพืชต่างๆ โดยเฉพาะการลดหรือเลี่ยงอาหารขยะ รวมถึงการออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส

โรคอ้วนยังเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังอีกหลายชนิด อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก

นอกจากการลดน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคต่างๆ แล้ว การเข้าตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำตามระยะเวลาของมะเร็งแต่ละชนิดก็เป็นการป้องกันที่ควรกระทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งดังกล่าว

คนเราเกิดและเติบโตกันมาในยุคที่แตกต่างกัน วิธีคิด ความเชื่อ และการใช้ชีวิตต่างกัน การเข้าใจและยอมรับความไม่เหมือนกันของแต่ละบุคคลแต่ละยุคสมัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเกิดเป็นคนยุคมิลเลนเนียมและถูกพยากรณ์โรคแล้วว่าขาดความสุขและสุขภาพย่ำแย่กว่าคนยุคอื่นๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ของตัวเอง การหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?