เด็กๆ กับหมอฟันเจอกันทีไร เด็กส่วนใหญ่เป็นต้องร้องจ๊ากทุกที บางคนแค่ได้ยินว่าจะพาไปหาหมอฟัน ก็อาละวาดจนบ้านแทบแตก แต่ครั้นจะปล่อยทิ้งไว้ไม่พาไปตรวจฟัน กว่าจะรู้ตัวอีกที ฟันซี่น้อยๆ ของลูกอาจจะผุไปทั้งปากแล้วก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เจ้าจอมซนยอมไปพบคุณหมอแต่โดยดี วันนี้เรามีทางออกที่น่าสนใจมาแนะนำ
ก่อนที่จะถึงเวลาพาเจ้าตัวเล็กไปพบคุณหมอ คุณพ่อคุณแม่นี่แหละค่ะคือหมอฟันคนแรกของลูก เพราะฉะนั้นเรามา ทำความรู้จักกับปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับฟันของลูกกันสักนิดนะคะ จะได้ป้องกันได้อย่างถูกวิธี
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเวลาที่เด็กมาพบหมอฟันก็คือ ปัญหาฟันผุ.. ส่วนโรคเหงือกก็มีบ้าง แต่จะเป็นในลักษณะเหงือกอักเสบจากการแปรงฟันไม่สะอาดเป็นส่วนใหญ่ จะพบโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบๆฟัน (โรคปริทันต์ ) ค่อนข้างน้อย
รองลงมา คือ ฟันได้รับอุบัติเหตุ เช่น เวลาที่เด็กวิ่งเล่นแล้วพลาดล้มจนฟันบิ่น หรือฟันหัก เป็นต้น
ดังนั้น การที่สุขภาพฟันของเด็กจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการดูแลของคุณพ่อคุณแม่ว่าเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหน สาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุในเด็กเล็กก็คือ การดูดนมขวด อันนี้สำคัญ เด็กที่ดูดนมขวดแล้วหลับไปทั้งๆ ที่ขวดนมยังคาปากอยู่ จะทำให้เกิดฟันผุได้รุนแรงและรวดเร็ว”
สำหรับวิธีการดูแลสุขภาพปากและฟันให้ลูกนั้น แนะนำว่าต้องดูแลตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น “การดูแลสุขภาพปากและฟันของเด็ก ให้ดูแลตามช่วงวัย ในช่วงแรกที่ฟันยังไม่ขึ้น หลังดูดนมแล้วจะมีนมตกค้างอยู่ในปาก ให้ใช้ผ้าสะอาดพันนิ้วแล้วเช็ดทำความสะอาดเหงือกและกระพุ้งแก้ม วิธีนี้นอกจากเป็นการทำความสะอาดแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เด็กเคยชินกับช่องปากที่สะอาด พออายุประมาณ 6 เดือน เป็นช่วงที่ฟันเริ่มขึ้น ก็ยังสามารถใช้ผ้าสะอาดเช็ดได้เหมือนเดิมจนกระทั่งฟันกรามขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันแทน ส่วนเรื่องยาสีฟัน ถ้าเด็กยังกลืนยาสีฟันอยู่ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ การแปรงฟันให้เด็ก เขาจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่เทคนิคของคุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้าน ถ้ามีเทคนิคดี หลอกล่อเก่ง เด็กก็จะให้ความร่วมมือนาน เราก็สามารถแปรงฟันให้ลูกได้สะอาดขึ้น ส่วนจะใช้เทคนิคแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน ถ้าเด็กชอบของที่มีเสียง เราก็อาจซื้อแปรงสีฟันที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือมีเพลง ก็จะช่วยให้เด็กแปรงฟันได้นานขึ้น สรุปแล้วการป้องกันฟันผุหลักๆ ก็คือ หมั่นทำความสะอาดช่องปากและฟัน, คอยระวังไม่ให้เด็กหลับทั้งๆ ที่ยังดูดนมอยู่ และอย่าเติมน้ำตาลลงไปในนม นอกจากนี้ยังมีการใช้ฟลูออไรด์เสริมสำหรับเด็ก 6 เดือนขึ้นไป เป็นฟลูออไรด์ชนิดเม็ด นำมาให้เด็กอมหรือเคี้ยว หรือนำมาบดผสมน้ำให้ดื่ม สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ และเวลามาพบทันตแพทย์ ก็จะมีฟลูออไรด์ชนิดเจลทาให้ ก็สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เหมือนกัน”
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านไม่ค่อยให้ความสำคัญกับฟันน้ำนมของลูกมากนักเพราะคิดว่ายังมีฟันแท้อีกชุด เดี๋ยวค่อยดูแลตอนฟันแท้ขึ้นก็ได้ ซึ่งตรงจุดนี้คุณหมอบอกว่า “ฟันน้ำนมมีความสำคัญค่อนข้างมาก หน้าที่หลักก็คือเป็นตัวกันที่ให้ฟันแท้ขึ้นถูกตำแหน่งและเป็นระเบียบสวยงาม กรณีที่เด็กสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ก็จะส่งผลในระยะยาวคือ ฟันแท้อาจจะขึ้นไม่ได้ หรืออาจจะขึ้นซ้อนเกผิดตำแหน่งไปเลย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลฟันให้ลูกตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนมอยู่ ควรพาลูกมาพบทันตแพทย์อย่างช้าสุดไม่เกิน 6 เดือนหลังฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น”
เมื่อถึงเวลาที่ต้องพาเจ้าตัวเล็กไปตรวจสุขภาพฟัน ต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย “ตรงนี้สำคัญมาก การที่เด็กจะให้ความร่วมมือกับคุณหมอหรือไม่ ปัจจัยสำคัญมาจากการเตรียมตัวเด็กมาจากบ้านว่าดีแค่ไหน การเตรียมง่ายๆ ก็คือ หานิทานหรือการ์ตูนที่เกี่ยวกับฟันมาให้ลูกอ่าน ให้ลูกดู แล้วก็อธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมเราต้องไปหาหมอฟัน เมื่อมาหาหมอฟันแล้ว คุณหมอจะทำอะไรให้บ้าง อุปกรณ์ในห้องทำฟันมีอะไรบ้าง พยายามอธิบายด้วยคำพูดที่ไม่ยากเกินไปและฟังดูไม่น่ากลัว
เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว ห้องตรวจฟันและคุณหมอผู้ตรวจก็มีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกของเด็กเช่นกัน “เด็กที่มาพบทันตแพทย์ เขาจะรู้สึกก่อนว่าหมอเป็นคนแปลกหน้า เขาจะยังไม่เกิดความไว้วางใจ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เขาไว้ใจก่อน ซึ่งความไว้ใจนั้นมาจากส่วนประกอบหลายๆ อย่างเช่น การพูดคุยกับเด็กด้วยท่าทีที่อ่อนโยน เป็นมิตร และใจเย็น เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เขาจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนอกบ้านได้ช้าเร็วไม่เท่ากัน สภาพฟันของเด็กก็มีส่วนด้วย ถ้าเด็กฟันดี ไม่มีฟันผุ เขาจะปรับตัวได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะมีงอแงบ้าง ซึ่งเราก็จะค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว มาครั้งแรกถ้ายังไม่ยอมให้ตรวจ เราก็จะแนะนำให้รู้จักแพทย์ รู้จักผู้ช่วย รู้จักเครื่องมือก่อน และก่อนที่จะใช้เครื่องมืออะไรกับเด็ก เราก็จะต้องบอก ต้องโชว์เครื่องมือให้ดู อธิบายให้ฟัง และมีการสาธิตให้ดูคร่าวๆ ก่อน เขาจะได้ไม่กลัว แต่ในบางกรณีถ้าจำเป็นต้องทำฟันเลย รอช้าไม่ได้ เช่น เด็กปวดฟันมา ก็ต้องยอมรับว่า impression ของเด็กก็จะเสียไปพอสมควร”
“บรรยากาศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความกังวลของเด็กลงได้ ห้องทำฟันสำหรับเด็กนั้นต้องพยายามสร้างบรรยากาศในแบบที่เด็กชอบ มีสีสันที่สดใส ไม่มีกลิ่นยาเหมือนห้องทำฟันทั่วไป นอกจากนี้อาจจะต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมเข้ามาช่วยด้วย เช่น โทรทัศน์ ของเล่น หรือของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ อย่างลูกโป่ง และตุ๊กตา ทำให้เด็กเพลิดเพลินและให้ความร่วมมือมากขึ้น ”
เพราะฟันเป็นอวัยวะที่สำคัญไม่แพ้อวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย คุณจึงต้องคอยดูแลเอาใจใส่สุขภาพฟันของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากลูกมีสุขภาพฟันที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์บ่อยกว่าที่ควรจะเป็น และแม้ว่าการพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันจะเป็นเรื่องที่อาจทำให้คุณหัวเสียได้ในบางครั้ง แต่ถ้าทุกฝ่ายทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาลมีความรู้ความเข้าใจใน
ธรรมชาติของเด็ก เราเชื่อว่าอีกไม่นานเจ้าตัวเล็กคงจะลุกขึ้นมาบอกคุณด้วยตัวเองว่า “แม่จ๋า..หนูอยากไปตรวจฟัน”
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่