มีคุณแม่ของลูกวัย 7 เดือนถามหมอว่า “ ลูกดูดนิ้ว คุณแม่จะเอาจุกนมหลอกให้ลูกแทนดีมั้ย คุณแม่ไม่อยากให้ลูกดูดนิ้ว เพราะกลัวฟันเหยิน คุณหมอว่าให้ลูกติดดูดจุกนมหลอกดีกว่าติดดูดนิ้วมั้ยคะ?” ขอบอกตามตรงว่าเป็นคำถามที่หมอต้องคิดหนักพอดูค่ะ เพราะความจริงแล้วไม่อยากให้เด็กติดทั้งดูดจุกนมหลอกและดูดนิ้วเลย แต่ถ้าเปรียบเทียบการเลิก…การดูดจุกนมหลอกจะเลิกง่ายกว่าดูดนิ้วค่ะ เนื่องจากนิ้วเป็นสิ่งที่ติดตัวลูกอยู่ตลอดเวลา จะเอาเข้าปากดูดๆๆๆๆ เมื่อไรก็ได้
เด็กทารกวัย 0-1 ปีอยู่ในระยะ oral stage เด็กจะมีความสุขกับการดูดและการได้ทานอิ่ม การที่เด็กๆ ในวัยนี้เอานิ้วมือเข้าปากก็น่าจะมีเหตุผลหลายประการ ทั้งเป็นการสำรวจนิ้วมือของตัวเอง หรืออาการคันเหงือกจากฟันที่กำลังจะขึ้น รวมทั้งใช้แทนการสื่อสารว่า”หนูหิวแล้ว” ก็เป็นได้…. อาการดูดนิ้วของเด็กในช่วงขวบปีแรกจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะลดลงได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี แต่หากเด็กติดดูดนิ้วไปจนอายุเกินกว่า 4 ปี อาจส่งผลให้ฟันยื่นเหยินและการสบฟันผิดปกติได้
ลูกชายคนโตของหมอก็ทำท่าจะดูดนิ้วเมื่ออายุ 6-7 เดือน เค้าทำความรู้จักสิ่งของต่างๆ โดยการเอาเข้าปากชิมมาตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน ลูกชิมหนังสือ ชิมมือชิมเท้าตัวเอง รวมถึงชิมหน้าแม่ด้วย! ยิ่งเวลาคันเหงือกเมื่อฟันจะขึ้น ยิ่งมันเขี้ยว เคี้ยวนิ้วเคี้ยวมืออย่างเมามัน ถ้าเอายางกัดให้ถือก็จะเคี้ยวยางกัด ชอบยางที่แข็งๆอีกด้วย… วันหนึ่งหมอเห็นลูกชายเอานิ้วโป้งเข้าปากเคี้ยวอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นดูด หมอรีบจับนิ้วอื่นๆ ใส่เพิ่มเข้าไปในปากน้อยๆ ของลูกตามไปด้วย “คุณลูกขา ดูดเพิ่มอีกสัก 3-4 นิ้วนะคะ” แล้วเค้าก็ดูดทั้งกำปั้นเล็กๆ นั้น น้ำลายย้อยมาถึงข้อศอกเชียว เมื่อไรที่ทำท่าจะดูด 1 นิ้ว หมอก็จับนิ้วอื่นๆ ของลูกเพิ่มเข้าปากอีกทุกที ในที่สุดลูกคงรำคาญ พอหายคันเหงือกก็เลิกเอานิ้วเข้าปากเอง (แม่แอบดีใจ เย้เย้!)
สาเหตุที่หมอไม่ได้ดึงนิ้วลูกออก เพราะเขาอยู่ในวัยที่เขาจะมีความสุขกับการดูด ถึงแม้จะดึงออกลูกก็ดูดใหม่ได้อยู่ดี จึงใช้วิธีจับนิ้วของเขาใส่เข้าไปให้มากขึ้นแทน คิดเองว่าดูดทั้งกำปั้นน่าจะไม่ถนัดเท่าไรนัก ตอนแรกก็ไม่แน่ใจหรอกค่ะว่าวิธีนี้จะช่วยให้ลูกไม่ติดดูดนิ้วได้หรือไม่ เพราะไม่เคยมีทฤษฎีใดหรือใครบอกให้ทำแบบนี้ แต่ก็ไม่เคยเห็นเด็กติดดูดนิ้วทีละหลายๆ นิ้วพร้อมกัน หรือดูดทั้งกำปั้น! มีแต่ติดดูดนิ้วโป้งนิ้วเดียวที่พบบ่อยที่สุด และมีเด็กที่ดูดนิ้วชี้กับนิ้วกลางพร้อมกันอยู่บ้าง
หมอได้ลองวิธีนี้อีกครั้งกับลูกเพื่อน เมื่อเราคุยกันเรื่องลูกดูดนิ้ว ลูกสาวเค้าอายุ 3 เดือน ดูดนิ้วโป้งอย่างเอร็ดอร่อย พอดึงออก เธอก็ดึงกลับไปดูดใหม่ หมอแนะนำให้จับนิ้วใส่เข้าปากลูกเพิ่มเหมือนกัน ผลปรากฎว่า 6 เดือนต่อมา หมอเจอเพื่อนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้…ลูกสาวเธอเลิกดูดนิ้วไปแล้วค่ะ!
มีคุณยายท่านหนึ่งเล่าให้หมอฟังว่า คุณยายทำถุงมือใส่ให้หลานสาววัยเกือบ 3 ขวบ เป็นถุงมือผ้ายาวเลยข้อมือ เมื่อสวมมือแล้ว คุณยายจะพันเทปลงบนถุงมือผ้าบริเวณข้อมือให้ไม่แน่นจนรัดข้อมือหลานเกินไป แต่แน่นพอที่หลานจะไม่สามารถดึงถุงมือออกได้ หลานมักจะเผลอดูดนิ้วตอนหลับ เมื่อใส่ถุงมือก็ดูดไม่ได้ ใส่อยู่เกือบ 1 เดือน ก็เลิกดูดนิ้วไปได้ค่ะ
คุณแม่อีกท่านหนึ่งบอกว่าลูกอายุ 3 ขวบกว่า ชอบดูดนิ้วตอนนั่งรถเพลินๆ หมอเสนอให้คุณแม่เปิดเพลงเด็กให้ลูกร้องไปตลอดทาง เมื่อปากไม่ว่างก็จะได้ไม่ดูดนิ้ว ก็ได้ผลดี นอกจากเด็กดูดนิ้วน้อยลงแล้ว ยังสามารถร้องเพลงเด็กได้ทั้งแผ่นอย่างคล่องแคล่วอีกด้วย แต่วิธีการนี้คุณแม่จะต้องฟังแต่เพลงเด็กทุกครั้งที่ลูกนั่งรถไปลูก
อีกบ้านหนึ่ง แม่ของลูกฝาแฝด 3 ขวบ ดูดนิ้วทั้งคู่เล่าว่า ลูกอยู่บ้านกับพี่เลี้ยงตอนกลางวัน พี่เลี้ยงดูหนังยิงกันเลือดท่วมจอให้เด็กๆ ดูอยู่ด้วย จากนั้นพี่เลี้ยงก็หันมาบอกเด็กน้อยว่า ถ้าดูดนิ้วต่อไปเลือดจะไหลแบบนี้เลย (เด็กๆ คงรู้สึกสยองแน่ๆ) พอตกเย็นเมื่อแม่กลับมาพบว่า เด็กๆ ไม่ดูดนิ้วแล้ว และเลิกดูดนิ้วไปเลย ผ่านไป 2 วันแม่ถามพี่เลี้ยงจึงได้ทราบสาเหตุว่าเพราะพี่เลี้ยงพาดูหนังโหด แม่ถึงกับอึ้งไป ใจก็อยากจะดุพี่เลี้ยง แต่น้องก็เลิกดูดนิ้วทันทีเพราะเธอ!
คุณพ่อคุณแม่ชอบวิธีการใด ก็สามารถนำไปลองปฏิบัติกันได้นะคะ
หมอขอนำความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ “การจัดการนิสัยดูดนิ้วสำหรับทันตแพทย์” เขียนโดย รศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาลงไว้เพื่อเป็นข้อมูลโดยย่อดังนี้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่