ช่วงปีที่ผ่านมามีการกล่าวถึงโรคลำไส้แปรปรวนกันมาก ซึ่งพบในประเทศไทยถึงราวร้อยละ 15 ของประชากร โรคลำไส้แปรปรวน มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติ โดยอาจมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสียก็ได้ ซึ่งอาการปวดท้องจะปวดบีบเกร็งบริเวณท้องน้อยด้านล่าง โดยเฉพาะด้านซ้ายและอาการจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระ รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอุจจาระ เช่น ถ่ายเป็นน้ำหรืออุจจาระเป็นก้อนแข็ง ถ่ายมีมูก( โดยไม่ควรมีสัญญาณอันตราย ได้แก่ น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด มีไข้ หรือคลำได้ก้อน) ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการแน่นท้อง มีแก๊ส หรือถ่ายไม่สุด
แม้โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome – IBS) จะเป็นโรคที่ไม่กลายเป็นมะเร็งลำไส้ และไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรัง อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ นานเป็นปีหรือตลอดชีวิต สร้างความรำคาญและวิตกกังวลให้ผู้ป่วย จนรบกวนต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน
ตรวจจากอาการเป็นหลัก บางครั้งแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมในรายที่มีสัญญาณเตือน เช่น อายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว โดยทำการตรวจเลือด ตรวจค่าไทรอยด์ ตรวจอุจจาระ เอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
เนื่องจากโรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังและมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นอีกหลังอาการดีขึ้นแล้ว หากไม่อยากให้ชีวิตปรวนแปรน่ารำคาญ ผู้ป่วยควรปรับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำไปตลอด นอกจากจะทำให้อาการลดลงแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นใหม่ได้อีกด้วย
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่