หญิงไทยร่วมใจลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

หญิงไทยร่วมใจลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

จากข้อมูลทางสถิติพบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉลี่ยของหญิงไทยคือ 30/100,000 หรือ หญิงไทย 100,000 คน พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 30 คน โดยมีอัตราสูงขึ้น 2 เท่าจากในอดีต ซึ่งเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอัตราที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งเต้านมนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ของเราที่เปลี่ยนไป

รศ.พลตรี.นพ. วิชัย วาสนสิริ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาล สมิติเวช ได้อธิบายว่า “ปัจจุบัน มะเร็งเต้านมกลายเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่อันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก  และผู้หญิงในแถบเอเชียเกิดมะเร็งเต้านมเร็วกว่าผู้หญิงชาวยุโรปและอเมริกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าใน กทม. และพื้นที่แถบภาคตะวันออกซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม อาทิ ระยอง จันทบุรี และชลบุรี มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ”

อาการที่สำคัญของมะเร็งเต้านม ได้แก่ คลำพบก้อนในเต้านม มีน้ำไหลออกมาจากหัวนม มีรอบบุ๋มของผิวหนัง หรือมีแผลบริเวณเต้านม ซึ่งถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเราควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นมะเร็งเต้านมในระยะหลังแล้ว

“จริงๆ แล้วเราไม่ควรรอให้มีอาการแสดงออกมา เพราะมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการใดๆ เราจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยการทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ควบคู่กันปีละ 1 ครั้ง ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดว่าทำแมมโมแกรมจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านม แท้จริงแล้วปริมาณรังสีจากการทำแมมโมแกรมนั้นน้อยมาก ซึ่งปริมาณรังสีจะเท่ากับการทำเอ็กซเรย์ปอดประมาณ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้น การทำแมมโมแกรมจึงไม่ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน”

เมื่อได้รับการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์แล้วพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีการเจาะหรือวิธีการผ่าตัดเพื่อนำเอาชิ้นเนื้อไปตรวจก่อนการวางแผนรักษาในขั้นต่อไป

“ถ้าพบก้อนเนื้อเล็กๆ ที่เล็กกว่า 1 เซ็นติเมตร แพทย์อาจเลือกใช้วิธีเจาะโดยใช้เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวด์เพื่อหาตำแหน่งก้อนเนื้อ แล้วทำการเจาะไปตรงบริเวณก้อนเนื้อเพื่อนำชิ้นเนื้อออกไปตรวจ โดยไม่แนะนำให้ผ่าตัดก้อนเนื้อไปตรวจตั้งแต่แรก ถ้าสามารถเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจได้ เพราะเมื่อนำก้อนเนื้อออกไปตรวจแล้ว พบว่าเป็นมะเร็ง คนไข้จะต้องถูกต้องผ่าตัดรักษามะเร็งอีกครั้ง เราจะแนะนำให้เจาะก่อน ถ้าเป็นเนื้อร้ายจะได้วางแผนรักษาทีเดียว คนไข้ไม่ต้องถูกผ่าตัดหลายครั้ง”

แพทย์สามารถบอกระยะของโรคมะเร็งได้จากขนาดของก้อนมะเร็ง การกระจายไปในต่อมน้ำเหลือง และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น แพทย์จะทราบระยะของโรคได้หลังจากทำการการผ่าตัด ยกเว้นในบางกรณีที่แพทย์สามารถวินิฉัยได้เลย อาทิ มีแผลเหวอะหวะ หรือมีก้อนใหญ่ติดกันแน่นที่ต่อมน้ำเหลืองตรงบริเวณรักแร้ ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นระยะที่มากแล้ว แพทย์อาจตัดสินใจให้ยาเคมีบำบัดก่อนทำการผ่าตัด

การรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การรักษาเฉพาะที่ ซึ่งได้แก่ การผ่าตัดและการฉายแสง และการรักษาทั่วร่างกาย ได้แก่ การให้เคมีบำบัด การให้ยาต้านฮอร์โมน หรือยาอื่นๆ

“การรักษามะเร็งเต้านม โอกาสในการรักษาให้หายขาดคือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมี 2 แบบ คือ แบบตัดเต้านมทั้งหมด หรือแบบเก็บเต้านมไว้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีวิธีการผ่าตัดที่สามารถเสริมเต้านมเทียมไปพร้อมกันเพื่อช่วยให้คนไข้ไม่เสียความมั่นใจ

“นอกจากนี้ การนำก้อนเนื้อมาย้อมเพื่อตรวจดูนิสัยของเซลล์มะเร็งก็สามารถบ่งบอกถึงความรุนแรงของเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งแพทย์จะนำมาใช้เพื่อช่วยในการพยากรณ์โรค รวมถึงการวางแผนการรักษาหลังผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ในกรณีที่เซลล์มะเร็งที่รุกรามเร็ว แล้วขยายมาที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง หรือให้ยาต้านฮอร์โมน”

มะเร็งเต้านม ยิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งมีโอกาสหายขาด ดังนั้น หญิงไทยเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ส่วนผู้ที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านมก็อย่าพึ่งหมดหวัง เพราะแพทย์แผนปัจจุบันสามารถช่วยได้ถึงแม้จะเป็นในระยะที่ 4 ก็ตามก็สามารถให้เคมีบำบัด หรือยาต้านฮอร์โมนได้

รศ.พลตรี.นพ. วิชัย ยังให้คำเตือนว่า “อย่าปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบัน เพราะมีการวิจัยและการทดลองมาเป็นระยะเวลานาน แพทย์จะทราบถึงผลดีผลเสียของยาแต่ละชนิด การเลือกใช้ยาหม้อหรือยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียวนั้นอันตรายมาก เพราะยาสมุนไพรบางชนิดส่งผลต่อตับและไต ทำให้ตับและไตวายได้ และยาสมุนไพรไม่ได้รับการวิจัยที่ถูกต้องชัดเจน จึงทำให้คนไข้เสียโอกาสที่จะได้รับวีธีการรักษาที่ถูกต้อง”

เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลสมิติเวช  เชิญชวนทุกท่านที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์หญิงไทยห่างไกลมะเร็งเต้านมปีที่ 6 โดยสามารถร่วมบริจาคเส้นผม เพื่อนำไปจัดทำวิกผม หรือสามารถร่วมแชร์ คลิป October Go Pink! ผ่านทาง Facebook Samitivej Club โดยสมิติเวช จะบริจาค 1 บาท ต่อการแชร์ 1 ครั้ง เพื่อนำรายได้ทั้งหมดมอบให้กับธนาคารวิกผม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อจัดซื้อวิกผมช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในลำดับต่อไป โดยท่านสามารถดูรายละเอียดการร่วมสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ได้ผ่านทาง www.samitivejhospital และ https://www.facebook.com/SamitivejClub/

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?