รับมือหนูน้อยวัยเตาะแตะ (วัย Toddler)

รับมือหนูน้อยวัยเตาะแตะ (วัย Toddler)

HIGHLIGHTS:

  • เด็กวัยเตาะแตะ 1 ถึง 3 ขวบ มักพูดและแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ปฏิเสธพ่อแม่ เพื่อการทดสอบดูปฏิกิริยาพ่อแม่และจะเกิดการเรียนรู้ว่าเขาควรจะทำตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
  • การฝึกให้ลูกรู้จักยอมรับ ควบคุมความต้องการ ไม่เอาแต่ใจ ไม่ดื้อ ไม่ต่อต้าน จะทำให้ลูกเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การรับมือเด็กดื้อ ต่อต้าน ไม่ยอมทำตาม พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์อย่าหงุดหงิด ไม่บ่น ตำหนิ หรืออารมณ์เสียใส่ลูก ให้ค่อยๆ ปลีกตัวออกมาอย่างสงบหลังจากอธิบายเหตุผลให้เด็กฟังแล้ว

พฤติกรรมหรือประโยคติดปากของเด็กในวัยเตาะแตะ ช่วงตั้งแต่อายุ 1 ถึง 3 ขวบ หรือที่เรียกกันว่าวัย Toddler

ที่พ่อแม่มักได้ยิน ได้เห็นประโยคเหล่านี้ คือ  ไม่  หนูไม่ทำ หนูไม่กิน หนูไม่หิว หนูไม่นอน หรือ แม่ทำให้หน่อย รวมถึงท่าทางขัดขืน เบะปาก ลงมือลงเท้า ลงไปนอนดีดดิ้นกับพื้น

เด็กวัย toddler เริ่มมีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการจะทดสอบอิสรภาพและความสามารถที่มีว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ในบางครั้งการต่อต้านหรือขัดขืนสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ทำจึงเกิดขึ้นเพื่อทดสอบดูปฏิกิริยาของพ่อแม่ ถึงการเคร่งครัดกฎระเบียบต่างๆ  ยกตัวอย่าง เช่น การงอแงตอนตื่นนอน ไม่ยอมกินอาหาร การเล่นแรง เล่นไม่หยุด ไม่ยอมเข้านอน เมื่อเด็กได้ลองขัดขืนต่อต้านพ่อแม่ แล้วเห็นการตอบสนองต่างๆของพ่อแม่ เช่น พ่อแม่โกรธ โมโห ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการที่พ่อแม่ใจอ่อน ยอมตามเพราะสงสารหรือรักลูกมากจนไม่กล้าขัดใจลูก ปฏิกิริยาของพ่อแม่ที่แสดงกลับมาไม่ว่าจะออกมาเป็นในลักษณะใด เด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่า เขาควรจะทำตัวเองในสถานการณ์อื่นๆ ถัดไป

สิ่งที่สำคัญก็คือ พ่อแม่จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองและสร้างระบบควบคุมความต้องการที่จะเอาแต่ใจตัวเองได้อย่างไร ถือเป็นงานที่ท้าทายและสำคัญมาก เพราะพ่อแม่ที่ต้องช่วยลูกพัฒนาสิ่งเหล่านี้ เพื่อสร้างพฤติกรรมในอนาคตที่ดีให้กับลูก จะเลี้ยงลูกต้องนึกไปถึงผลระยะยาว อย่ามองแต่ตอนลูกกำลังอยู่ในวัยเตาะแตะ ที่ไม่ว่าจะดื้อ จะต่อต้าน จะร้องกรี๊ด ก็ดูน่ารัก น่าเอ็นดูไปหมด

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ในการดูแลลูกวัยเตาะแตะ

  • จัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา มีความสม่ำเสมอ ทำให้เด็กเคยชิน รู้ว่าเวลาไหนเขาต้องทำอะไร รวมไปถึงการสร้างวินัยต่างๆ เช่น การทำให้เด็กรู้จักเก็บของเล่นเข้าที่ การให้รู้จักเล่นกับพี่น้องอย่างสันติไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง การแบ่งปันของให้คนอื่น การรอคอย และอื่นๆ
  • หมั่นพูดชมเชย หรือแสดงความรักอย่างเช่นการ กอด สัมผัส เมื่อลูกทำกิจกรรมตามกิจวัตรประจำวันนั้นได้ดี อย่าละเลยที่จะแสดงความพอใจหรือชื่นชมเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย
  • หากเด็กทำตัวดื้อ ต่อต้าน ให้พ่อแม่ลองสังเกตดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น ลูกไม่สบาย เหนื่อย ง่วง มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นหรือเปล่า จนทำให้ลูกปรับตัวรับกับสถานการณ์นั้นไม่ได้จึงทำให้หงุดหงิด งอแง โดยพ่อแม่อย่าเพิ่งตำหนิ ให้หันมาทำความเข้าใจสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น “พูดหรือบอกลูกว่า แม่รู้หนูหงุดหงิดที่ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านวันนี้ แต่ฝนมันตกลูกเลยออกไปไม่ได้จ้ะ” หรือ  “พ่อรู้ว่าลูกอยากให้พ่อเล่นด้วย แต่พ่อต้องไปหาคุณปู่ที่โรงพยาบาล ลูกเล่นของเล่นไปก่อน น่าสนุกดีออกลูก แล้วพ่อจะรีบกลับมาเล่นด้วยนะครับ”

หากลูกยังคงดื้อ ต่อต้าน ไม่ยอมทำตามที่พ่อแม่บอก ก็ต้องควบคุมอารมณ์พยายามจัดการกับสถานการณ์ให้สงบให้ได้ โดยอย่าหงุดหงิด ไม่บ่น ตำหนิ หรืออารมณ์เสียใส่ลูก โดยให้ค่อยๆ ปลีกตัวออกมาอย่างสงบหลังจากบอกลูกไปแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เวลาที่ลูกกำลังดื้อ ต่อต้าน หงุดหงิด ให้พ่อแม่พูดหรือแสดงออกมาว่าตนเองเข้าใจเหตุผลที่ลูกกำลังหงุดหงิด ผิดหวัง แต่ในบางครั้งพ่อแม่ก็ไม่สามารถทำตามที่ลูกต้องการได้ ลูกเสียใจได้ หงุดหงิดได้ แต่ลูกก็คงต้องยอมรับและเชื่อฟัง ทำตามในสิ่งที่สมควรอยู่ดี

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการฝึกให้ลูกของคุณรู้จักที่จะยอมรับ และควบคุมความต้องการ ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ดื้อ ไม่ต่อต้าน อีกต่อไป และหากพ่อแม่พาเด็กๆ มาพบกุมารแพทย์จะยิ่งช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กๆ ให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น สามารถวางแผนดูแลลูกให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?