มะเร็งอัณฑะ พบน้อย แต่กระทบ (ใจ) แรง

มะเร็งอัณฑะ พบน้อย แต่กระทบ (ใจ) แรง

HIGHLIGHTS:

  • มะเร็งอัณฑะ พบมากในผู้ชายช่วงอายุ 15 – 35 ปี และผู้ชายที่เป็นหมันแต่กำเนิด มีโอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะสูงกว่าปกติ
  • การตรวจอัณฑะด้วยตนเองเดือนละครั้ง เป็นการคัดกรองโรคมะเร็งอัณฑะได้ตั้งแต่ระยะแรกโดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง
  • การรักษามะเร็งอัณฑะอาจมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น  โรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  และไขมันในเลือดสูง รวมถึงในผู้สูงอายุ

แม้มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer) จะฟังดูน่ากลัวไม่แพ้มะเร็งอื่นๆ แต่พบว่าโรคมะเร็งอัณฑะไม่ติด 1 ใน10 ของมะเร็งที่พบบ่อยของชายไทย รวมถึงยังพบได้น้อยประมาณ 2% ของมะเร็งทั้งหมด

โรคมะเร็งอัณฑะยังจัดว่ามีความรุนแรงต่ำ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้จะอยู่ในระยะที่โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้วก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็ง อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

มะเร็งอัณฑะมีโอกาสเป็นได้ทั้งด้านซ้ายและขวา หรือทั้ง 2 ด้านเท่าๆ กัน แต่ส่วนใหญ่มักเกิดเพียงด้านเดียว และพบบ่อยในช่วงอายุ 15 – 35 ปี ทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกว่าจะส่งผลถึงสมรรถภาพทางเพศ นับเป็นมะเร็งที่มีผลกระทบทางใจวัยหนุ่มอย่างมาก

อาการ

  • คลำพบก้อนเนื้อในอัณฑะ
  • ลูกอัณฑะบวมหรือใหญ่ขึ้น โดยไม่รู้สึกเจ็บ
  • ปวดหน่วงบริเวณขาหนีบหรือท้องน้อย
  • อัณฑะบวมคล้ายมีน้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกปวดขัด หรือรู้สึกไม่สบายภายในอัณฑะ
  • รู้สึกเหมือนมีน้ำสะสมภายในถุงอัณฑะ
  • ความต้องการทางเพศลดลง

หาก มะเร็งอัณฑะ มีการแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ รู้สึกมึนงง
  • เจ็บแปลบ ชา หรืออ่อนแรงบริเวณต้นขา
  • หายใจลำบาก ไอ และแน่นหน้าอก

การตรวจอัณฑะด้วยตนเอง

การตรวจอัณฑะด้วยตนเองเดือนละครั้ง เมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งอัณฑะได้ตั้งแต่ระยะแรก โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง การตรวจอัณฑะที่ดีที่สุดควรทำเมื่อถุงอัณฑะอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย เช่นหลังจากการอาบน้ำอุ่น

ขณะตรวจควรจับองคชาติออกไป จากนั้นค่อยๆ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วอื่นๆ ไล่คลำบริเวณอัณฑะทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่

อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องปกติ หากพบว่าอัณฑะทั้ง 2 ข้างมีขนาดต่างกัน อยู่ในระดับไม่เท่ากัน และอาจพบรอยนูนเล็กๆ ที่ด้านนอกของอัณฑะส่วนบนและส่วนกลาง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

ปัจจุบันยังหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิดไม่ได้ มะเร็งอัณฑะก็เช่นกัน แต่การศึกษาพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงดังนี้

  • เพศชาย ที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งอัณฑะมากขึ้นประมาณ 10 -40 %
  • โครโมโซม (Chromosome) คู่ที่ 1 หรือคู่ที่ 12 ผิดปกติ
  • ผู้ที่มีอัณฑะฝ่อ
  • เคยบาดเจ็บหรือมีการอักเสบบริเวณอัณฑะ จากสาเหตุต่าง ๆ
  • ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • ผู้ชายที่เป็นหมันแต่กำเนิด มีโอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะสูงกว่าปกติ

การวินิจฉัย

  • ซักประวัติ และอาการ
  • ตรวจร่างกาย โดยคลำอัณฑะทั้ง 2 ข้าง
  • ตรวจอัลตราซาวด์บริเวณถุงอัณฑะ
  • ตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งและระยะของโรคที่ชัดเจน

ทั้งนี้การวินิจฉัยมะเร็งอัณฑะ แพทย์จะไม่มีการตัดชิ้นเนื้อออกมาพิสูจน์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการผ่าตัดจะต้องทำโดยผ่านถุงอัณฑะ ซึ่งจะยิ่งทำให้มะเร็งลุกลามเข้าถุงอัณฑะได้ ส่งผลให้การรักษาซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น

ระยะของโรคมะเร็งอัณฑะ

โรคมะเร็งอัณฑะ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาได้อย่างถูกต้องและได้ผลดีที่สุด ดังนี้ได้แก่

ระยะที่ 1 มะเร็งเกิดขึ้นเฉพาะในอัณฑะ ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้สูงถึง 90 – 100%

ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องท้อง โอกาสรักษาหายได้ ประมาณ 80 – 90%

ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องท้อง รวมทั้งมีสารมะเร็งปริมาณสูงในเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายมักเข้าสู่สมองและปอด ยังมีโอกาสรักษาหายประมาณ 50 – 70%

อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยดื้อต่อรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด ส่งผลให้รักษาไม่หายอยู่ที่ประมาณ 5 – 10%

การรักษา มะเร็งอัณฑะ

  • การผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดเฉพาะอัณฑะข้างที่เป็นโรคเท่านั้น โดยแพทย์มีการประเมินเซลล์มะเร็งและระยะของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาต่อเนื่อง
  • รักษาด้วยรังสี อาจทำการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องท้อง ช่องอก หรือบริเวณที่มะเร็งแพร่กระจาย
  • เคมีบำบัด หลังจากผ่าตัดแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้เคมีบำบัดต่อเนื่อง หรือทำพร้อมกับการรักษาด้วยรังสี

ผลข้างเคียงการรักษา

การรักษามะเร็งอัณฑะอาจมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง รวมถึงในผู้สูงอายุ โดยมีผลข้างเคียง เช่น

  • จากการผ่าตัด อาจสูญเสียอัณฑะ แผลผ่าตัดติดเชื้อ หรือผลจากการดมยาสลบ
  • รักษาด้วยรังสี อาจมีผลข้างเคียงกับผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี
  • เคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ด้วยปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันและตรวจคัดกรองมะเร็งอัณฑะตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการเฝ้าสังเกตอัณฑะตนเอง หากพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงการดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรงเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

แม้ว่ามะเร็งอัณฑะจะเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น อีกทั้งยังมีโอกาสรักษาให้หายสูงมาก แต่การเกิดสิ่งผิดปกติกับอวัยวะเพศชายอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจมากกว่าทางร่างกายมากมาย

มะเร็งชนิดเดียวกัน อาจรักษาไม่เหมือนกัน รักษามะเร็ง มีวิธีใดบ้าง คลิก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ได้ที่นี่*
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ได้ที่นี่*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?