โรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีนที่ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ แต่ความผิดปกตินี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว โดยจะพบได้ว่า มีโรคมะเร็งเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นเกิดจากพ่อและแม่อย่างละครึ่งหนึ่ง โดยเป็นการส่งผ่านโครโมโซมจากพ่อและแม่มายังลูก ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นมะเร็งทางพันธุกรรมคือ 50:50
การที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง หมายความว่า ลูกมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว แต่ต้องไม่ลืมว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่มาจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เมื่อเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ความเสี่ยงต่อโรคก็ย่อมลดลงเช่นเดียวกัน
สาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมก็คือ มิวเตชั่น (mutation) หรือความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของยีน BRCA ยีนนี้มีสองตัวคือ BRCA1 และ BRCA2 หน้าที่หลักของมันคือ ซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายให้กลับสู่ปกติ เมื่อรหัสในดีเอ็นเอของยีนสองตัวนี้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำงานผิดปกติ ดีเอ็นเอที่เสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมทำให้มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่สูงขึ้น
โดยปกติแล้วคนเราเกิดมาจะได้รับรหัสพันธุกรรมหรือ “พันธุ์” สองชุดที่เราเรียกกันว่าดีเอ็นเอ ชุดแรกเราได้มาจากแม่ ส่วนอีกชุดมาจากพ่อ ความผิดปกติของยีน BRCA สามารถถ่ายทอดได้ทั้งทางพ่อและทางแม่ ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวไม่ว่าทางสายพ่อหรือสายแม่เป็นมะเร็งเต้านม ก็บ่งบอกว่าอาจมียีน BRCA ที่ผิดปกติในครอบครัวนั้นๆ และคนที่ได้รับยีนที่ผิดปกตินี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเกือบร้อยละ 90 และมะเร็งรังไข่ร้อยละ 50
นี่เป็นสาเหตุที่แอนเจลิน่า โจลี่ เลือกที่จะตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมออก หลังจากที่ตรวจพบความผิดปกติในยีน BRCA1 เพราะเธอมีประวัติคุณยายเป็นมะเร็งรังไข่ ส่วนคุณแม่เป็นทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ต่อมาเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่มาก
อย่างไรก็ดี พบว่าสาเหตุของมะเร็งเต้านมที่เกิดจากพันธุกรรมพบเพียงแค่ 1 ใน 10 ในชาวตะวันตก และประมาณการว่าอาจน้อยกว่านี้ในคนไทย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การตั้งครรภ์ การได้รับฮอร์โมนเสริม อาหาร และแม้กระทั่งไลฟ์สไตล์ก็มีผลต่อการเพิ่มหรือลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง
