ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis)

ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis)

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะแพ้รุนแรง เกิดจากระบบภูมิต้านทานที่ไวต่อสารนั้ก่อภูมิแพ้บางอย่างมากกว่าคนปกติ ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
  • หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการแพ้รุนแรง ควรพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและรุนแรง จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้บางอย่างมากระตุ้น เช่น ยา อาหาร แมลงกัดต่อย หรือสารก่ออื่นๆ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานที่จะไวต่อสารนั้นๆ มากกว่าคนปกติ จึงทำให้เกิดอาการต่อระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และที่น่ากลัวที่สุดคืออาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

อาการของโรค

  • อาการทางผิวหนัง เกิดผื่นแดง ลมพิษ ปากบวม ตาบวม คัน
  • อาการในระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจติดขัด รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด
  • อาการในทางเดินอาหาร เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ หน้ามืด
  • บางรายมีอาการปวดศีรษะ แน่นหน้าอก ชัก สับสน บางครั้งรุนแรงถึงหมดสติ

อาการต่างๆ อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ภายในไม่กี่นาที หรือแต่บางครั้งอาจนานเป็นชั่วโมง

สารก่ออาการแพ้

  • จากการแพ้อาหาร เช่น นมวัว ถั่ว อาหารทะเล แป้งสาลี ไข่ขาว ฯลฯ
  • จากการแพ้ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยากันชัก เป็นต้น
  • จากแมลงกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มดคันไฟ
  • จากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยาง เช่น ถุงมือยาง

การวินิจฉัยภาวะแพ้รุนแรง

แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ อาการที่เกิดขึ้น ระยะเวลาของการได้รับสารที่น่าจะกระตุ้นให้มีอาการ ประวัติการแพ้ก่อนหน้านี้ โรคประจำตัว ร่วมกับการตรวจร่างกาย ส่วนในรายที่ต้องการยืนยันว่าอาการไม่ได้เกิดจากภาวะอื่นสามารถทำการตรวจเลือดเพื่อหาเอนไซม์ Tryptase ได้ เพราะเอนไซม์ดังกล่าวอาจจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีอาการ เพื่อระบุสิ่งที่กระตุ้นให้มีอาการ หรืออาจใช้วิธีทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง Skin Prick Test ในภายหลัง

การรักษาภาวะแพ้รุนแรง

  • หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรงควรพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • ฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine ) ที่กล้ามเนื้อต้นขา ให้ยาแก้แพ้ สารน้ำ บางรายมีการพ่นยาขยายหลอดลมและให้ออกซิเจน เป็นต้น
  • ระหว่างการรักษา จะมีการวัดสัญญาณชีพเป็นระยะ โดยต้องสังเกตุอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา

การป้องกันภาวะแพ้รุนแรง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งที่แพ้ เช่น
    • ในกรณีแพ้อาหารก็ควรอ่านฉลากอาหารหรือสอบถามจากผู้ขายก่อนทุกครั้งว่ามีส่วนประกอบของสารที่แพ้หรือไม่
    • หากแพ้แมลงควรสวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนังมิดชิด ไม่เดินเท้าเปล่าในสนามหญ้า
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ ควรพกนามบัตรหรือป้ายเล็กๆ เพื่อระบุการแพ้ของตน
  • ในรายที่มีประวัติแพ้รุนแรง ควรพกยาอิพิเนฟรินติดตัวเสมอ
  • ผู้ป่วยและผู้ปกครองควรรู้จักอาการแพ้ว่ามีอาการอะไรบ้าง รวมทั้งรู้วิธีการฉีดยาอิพิเนฟริน (epinephrine) ในกรณีฉุกเฉิน
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?