ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย โดยทางการแพทย์จะกำหนดว่าเมื่อกรดยูริกในเลือดสูงเกินขีดจำกัดของความสามารถในการละลายของกรดยูริก (Monosodium urate) คือ 6.8 มก./ดล. ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ถือว่ามีภาวะกรดยูริกสูง
ระดับกรดยูริกในเลือดที่เกิน 7 มก./ดล. จะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือยูเรตหรือโรคเกาต์ และเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วที่ไต ดังนั้นโดยทั่วๆ ไป เราจึงใช้ระดับกรดยูริก มากกว่า 7 มก./ดล. ในการบอกว่าเป็นภาวะกรดยูริกในเลือดสูงค่าการทำงานของไต (ระดับครีเอตินิน) น้ำหนัก อายุ เพศ ความดันโลหิตและการดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้
ในเด็กระดับกรดยูริกในเลือดจะอยู่ในช่วง 3 – 4 มก./ดล. เนื่องจากมีการขับออกทางไตได้ดี เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว ในผู้ชายค่ากรดยูริกในเลือดจะเพิ่มขึ้น 1 – 2 มก./ดล. และมักจะคงที่ระดับนี้ไปตลอดชีวิต ในขณะที่ผู้หญิงแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าจนกว่าจะหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ซึ่งมีฤทธิ์ในการเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ หลังวัยหมดประจำเดือนระดับกรดยูริกในผู้หญิงจากค่อยๆ สูงขึ้น จนมีค่าใกล้เคียงกับระดับกรดยูริกในเลือดของผู้ชาย
ระดับกรดยูริกในเลือด ที่มากกว่า 9 มก./ดล. จะทำให้การเกิดโรคเกาต์ต่อปีสูงขึ้นถึง 4.9 % เมื่อเทียบกับคนที่มีระดับกรดยูริกในเลือดน้อยกว่า 7 มก./ดล. จะพบเพียง 0.1 % เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการของโรคเกาต์ แต่มักจะพบอาการทางเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง และโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน
แต่หากระดับของกรดยูริกสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อการเกิดโรคเกาต์ได้ โดยพบว่าผู้ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดมากกว่า 9 มก./ดล. เป็นเวลา 5 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคเกาต์ สูงถึง 22 % ในขณะที่ผู้ที่มีระดับกรดยูริก 7 – 8.9 มก./ดล. นาน 5 ปี พบเพียง 3 % เท่านั้น
โรคเกาต์ (Gout) จะทำให้มีอาการปวดข้อมากอย่างฉับพลัน มักพบในผู้ชายช่วงอายุ 40 – 60 ปี และในผู้หญิง มักจะเกิดขึ้นหลังหมดประจำเดือน การอักเสบของข้อในครั้งแรกๆ มักเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบบ่อยที่สุด คือ ที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า รองลงมา คือข้อหลังเท้า ข้อเท้า การวินิจฉัยโรคเกาต์ที่แน่นอนต้องเจาะข้อที่อักเสบ เพื่อเอาน้ำในข้อมาตรวจ แล้วพบผลึกเกลือยูเรต โดยจะเห็นเป็นผลึกรูปเข็มอยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำไขข้อ ในกรณีที่ไม่สามารถนำน้ำไขข้อมาตรวจได้ จะใช้ลักษณะทางคลินิกเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับวินิจฉัยและการใช้ยาที่ถูกต้องและหมาะสม
การตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้เราตรวจพบความผิดปกติ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัย พร้อมให้คำแนะนำและให้การรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที อย่างไรก็ดีหากพบความผิดปกติของกรดยูริก การลดระดับกรดยูริกในเลือดโดยการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สุด สามารถทำได้เลย ไม่มีอันตราย หรือผลข้างเคียง และช่วยให้สุขภาพของคุณกลับมาดีขึ้นได้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่