พังผืดในอุ้งเชิงกราน หนึ่งปัญหาที่ทำให้การใช้ชีวิตสะดุด

พังผืดในอุ้งเชิงกราน หนึ่งปัญหาที่ทำให้การใช้ชีวิตสะดุด

การใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรานั้นเป็นเรื่องที่น่าสนุก เพราะเราไม่อาจรู้ว่าในแต่ละวันเราจะได้เจออะไรบ้าง แต่คงไม่ดีแน่ถ้าทุกอย่างต้องมาสะดุดหยุดลงด้วยความป่วยไข้ไม่สบาย ซึ่งสำหรับคุณผู้หญิงทั้งหลายแล้วมีปัญหามากมายที่ทำให้เกิดการป่วยไข้ขึ้นได้หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหา พังผืดในอุ้งเชิงกราน เป็นภาวะหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตไม่น้อยเหมือนกัน ครั้งนี้หมอจึงขอนำเสนอเรื่องนี้ไว้เป็นความรู้แก่ทุกคน จะน่าสนใจแค่ไหนมาติดตามกัน

พังผืดในอุ้งเชิงกราน คืออะไร

ก่อนอื่นเลย เราต้องมาทำความรู้จักกับอุ้งเชิงกรานกันก่อน ส่วนบริเวณช่องท้องของร่างกายเราจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่เหนือกระดูกเชิงกรานขึ้นไป และส่วนที่อยู่ต่ำกว่ากระดูกเชิงกรานลงมา ส่วนที่อยู่ต่ำกว่านี่เองที่เราเรียกว่าอุ้งเชิงกราน ถ้าจะมองจากภายนอกให้เข้าใจง่ายๆ ขึ้นก็บริเวณที่เรียกว่าท้องน้อยนั่นเอง

ทีนี้มาดูส่วนของพังผืดกันบ้าง เมื่อร่างกายของเราเกิดการบาดเจ็บ อักเสบ หรือระคายเคือง กลไกของร่างกายก็จะทำการปกป้องและซ่อมแซมตัวเองด้วยการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา ซึ่งเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ก็จะมีลักษณะเป็นเส้นใยเหนียว เพื่อจะทำการเหนี่ยวรั้งอวัยวะต่างๆ ให้กลับมาติดกัน เนื้อเยื่อที่สร้างมาใหม่นี่ก็คือ พังผืด อย่างสมมุติว่าเราถูกมีดบาด ร่างกายก็จะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างพังผืดขึ้นมาเพื่อสมานแผลให้เนื้อเยื่อติดกัน ทีนี้มาดูพังผืดในอุ้งเชิงกรานกันบ้าง พังผืดในอุ้งเชิงกราน คือพังผืดที่เกิดขึ้นรอบๆ อวัยวะทั้งหมดที่อยู่ในกระดูกอุ้งเชิงกราน คือสามารถเกิดขึ้นตรงไหนก็ได้ในกระดูกอุ้งเชิงกราน ที่จะพบบ่อยก็คือบริเวณท่อนำไข่ ปีกมดลูก บริเวณด้านหลังมดลูก รวมถึงลำไส้ตรงก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

พังผืดในอุ้งเชิงกราน เกิดจากสาเหตุใด

พังผืดในอุ้งเชิงกรานเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ

  • การอักเสบ และติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ร่างกายของผู้หญิงถูกสร้างมาให้มีรูเปิดตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งรูเปิดเหล่านี้เชื้อโรคสามารถเข้าไปได้ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ เมื่อเกิดการอักเสบและระคายเคืองบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานขึ้นมานั่นเอง
  • การอักเสบในอุ้งกราน ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ส่วนมากแล้วถ้าเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานขึ้นมาจากสาเหตุนี้ก็จะมาจากอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกการพยายามกำจัดเลือดประจำเดือนออกจากร่างกายในทุกเดือน ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้เหมือนกัน การอักเสบบ่อยๆ ก็ทำให้เป็นพังผืด
  • จากการผ่าตัดช่องท้อง เช่น การผ่าตัดคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดจะทำให้เกิดแผลที่มดลูกและผนังหน้าท้อง เมื่อเกิดแผล ร่างกายก็จะทำการซ่อมตัวเองจึงทำให้เกิดพังผืด ยิ่งผ่ามากครั้งร่างกายก็ยิ่งสร้างพังผืดมากขึ้นตามจำนวนครั้งที่ผ่า

ปวดท้องน้อย เรื้อรัง อาจเสี่ยงเป็น พังผืดในอุ้งเชิงกราน

พังผืดในอุ้งเชิงกรานไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหากับการดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่น้อย เพราะเมื่อเกิดพังผืดขึ้นในบริเวณอุ้งเชิงกราน จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งปกติคนไข้ที่เข้ามาหาหมอมักจะมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังแบบหาสาเหตุไม่เจอว่าปวดเพราะอะไร เมื่อหาสาเหตุไม่เจอหมอก็จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าน่าจะเกิดจากพังผืด และอีกประการหนึ่งการมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน จะส่งผลให้มีบุตรยาก เพราะพังผืดจะไปรัดท่อนำไข่ทำให้ตัวไข่และสเปิร์มออกไม่ได้จึงทำให้มีบุตรยากขึ้น

วิธีการรักษาพังผืดในอุ้งเชิงกราน ทำได้อย่างไร

แนวทางการรักษาพังผืดในอุ้งเชิงกราน ทำได้ 2 ทางคือ

  1. รักษาตามอาการ เป็นการประคับประคองอาการ คือถ้ามีอาการปวดก็จะให้รับประทานยา และงดการเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ ที่จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวด
  2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง MIS ซึ่งถือว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพังผืดในอุ้งเชิงกราน หมอต้องบอกไว้ก่อนว่าเราไม่มีทางเห็นพังผืดได้ไม่ว่าจะตรวจในรูปแบบไหนก็ตาม จะอัลตร้าซาวด์ ตรวจภายใน ทำ CT Scan อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเห็นพังผืดได้ นอกจากส่องกล้องเข้าไปเราถึงจะเห็นพังผืดได้ จึงนับว่าวิธีนี้เป็นทั้งการตรวจวินิจฉัยรวมทั้งการรักษาในครั้งเดียว และการผ่าตัดส่องกล้องแบบ MIS นี้เป็นการผ่าตัดที่ไม่ทำให้เกิดพังผืดซ้ำขึ้นมาในร่างกาย เพราะแผลผ่าตัดเล็กมากจึงไม่ทำให้ร่างกายบอบช้ำหรืออักเสบ

จะเห็นว่า แม้พังผืดในอุ้งเชิงกราน ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้เช่นกัน เพราะถ้ามีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ก็สามารถจะสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่ามารบกวนชีวิตคุณได้

รู้จักกับคุณหมอสันติ พงศ์ภัณฑารักษ์ และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชวิทยา

นายแพทย์สันติ พงศ์ภัณฑารักษ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โดยคุณหมอจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และยังมีวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โดยคุณหมอมีความชำนาญด้านการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช เช่น

  • เนื้องอกมดลูก
  • ถุงน้ำรังไข่
  • ช็อกโกแลตซีสต์
  • ภาวะท่อนำไข่ผิดปกติ เช่น ท้องนอกมดลูก ผังผืดในช่องท้อง หรือผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?