ในประเทศไทยช่วงสักประมาณปี พ.ศ. 2530 ในช่วงนั้นการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า ยังเป็นการผ่าตัดแบบเปิดอยู่ คือผ่าตัดเปิดบริเวณลูกสะบ้าและก็ทำการเย็บซ่อมเอ็นข้อเข่า ซึ่งผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ เพราะเทคโนโลยีในตอนนั้นยังไม่เข้ามา แพทย์ยังไม่เข้าใจถึงตำแหน่งที่เหมาะสมในการรักษาจึงทำให้ทำการรักษาไม่นานคนไข้ก็มีอาการเข่าหลวม ต่อมาช่วงระหว่างปี 2530 -2535 เริ่มมีการพัฒนานำเอ็นเทียมเข้ามาใช้ร่วมกับการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า ช่วงเข้ามาแรกๆ ก็ได้รับกระแสตอบรับดี เพราะทำไปแล้วหัวเข่าที่เคยหลวมก็กลับมาแน่นขึ้น แต่ถึงอย่างไรเอ็นที่นำมาใช้ก็ยังเป็นของเทียมดังนั้นจึงมีอายุการใช้งาน หากใช้งานหรือมีการขยับเขยื้อนบ่อยอายุการใช้งานเอ็นเทียมพวกนี้ก็จะสั้นลง เมื่อเอ็นเทียมเปื่อยก็จะต้องกลับมาผ่าตัดใหม่เพื่อใส่เอ็นเข้าไปเหมือนเดิม ตรงนี้จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้วงการแพทย์เลิกใช้เอ็นเทียมและหันกลับมาใช้เอ็นในร่างกายของคนไข้เองในการรักษาอีกครั้ง และต่อมาเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องก็เริ่มเข้ามาแทนที่การผ่าตัดรูปแบบเก่า จากจุดนี้นี่เองจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการผ่าตัดเอ็นข้อเข่าในปัจจุบัน