ปวดหลังเรื้อรังรักษาได้และไม่ต้องกังวลเรื่องผ่าตัด

ปวดหลังเรื้อรังรักษาได้และไม่ต้องกังวลเรื่องผ่าตัด

หลังเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวส่วนบน ซึ่งภายในมีกระดูกสันหลังเป็นแกนกลางที่สำคัญของร่างกายในการรองรับน้ำหนักตัว กระดูกสันหลังประกอบไปด้วยกระดูก 24 ชิ้น มีลักษณะเป็นปล้องๆ ตั้งแต่คอถึงเอว ส่วนคอ (cervical spine) ประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น (C1-C7) ส่วนอก (thoracic spine) ประกอบด้วยกระดูก 12 ชิ้น (T1-T12) ส่วนเอว (lumbar spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (L1-L5)และส่วนสุดท้าย คือ ส่วนกระเบนเหน็บ (sacral spine) ประกอบด้วยกระดูก 5 ชิ้น (S1-S5) ซึ่งกระดูกส่วนนี้จะถูกรวมเป็นชิ้นเดียวเราเรียกว่า กระดูกก้นกบ ทั้งหมดจึงมี 24 ชิ้นพอดี นอกจากนั้นจุดที่เชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นให้มีการเชื่อมต่อกันนั้นเราจะเรียกว่า ข้อต่อกระดูกสันหลัง ซึ่งจะมีอยู่ทั้ง 2 ข้างซ้ายขวา ข้อต่อกระดูกสันหลังนี้จะช่วยให้กระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ และยังมีหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งเป็นตัวคั่นระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น จะมีเมือกใสลักษณะคล้ายเจลลี่อยู่ภายในหมอนรองกระดูก ซึ่งถ้าหมอนรองกระดูกมีการกระทบกระเทือนจนฉีกขาดจนทำให้ส่วนชั้นในมีการเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น

อาการปวดหลังที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อย ๆ ก็คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นในบริเวณกระดูก L1-L5 เป็นอาการที่พบบ่อยมากในวัยผู้ใหญ่หรือคนวัยทำงาน คนไข้จะรู้สึกปวดช่วงบั้นเอวลงไป

อาการปวดหลังแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อาการปวดหลังแบบเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นมาภายในไม่กี่วันถึง 1-2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะเกิดจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา
  2. อาการปวดหลังที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ซึ่งมักจะมีอาการปวดต่อเนื่อง 2 อาทิตย์และมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อน โพรง

กระดูกสันหลังตีบแคบ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะพบสาเหตุจากความผิดปกติของหมองรองกระดูกสันหลังเยอะที่สุด

กรณีเยื่อหุ้มชั้นนอกของหมอนรองกระดูกสันหลังหย่อน แตกหรือฉีก ทำให้ส่วนหมอนรองกระดูกสันหลังที่อยู่ภายใน เคลื่อนตัวถอยไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ก็จะทำให้เกิดหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

อาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณควรรีบพบแพทย์ทันที ก็คือ ปวดหลังร้าวลงขาต่อเนื่องนานกว่า 2 อาทิตย์ มีอาการชา ตั้งแต่เอวร้าวลงขาหรือหลังเท้า มีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงร่วมด้วย ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะไม่ค่อยได้ ซึ่งถ้าคุณเริ่มมีอาการดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่า คุณเริ่มมีอาการหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท คุณจึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้แน่นอน เพื่อจะได้หาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกตามอายุ หรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หมอนรองกระดูก กิจวัตรประจำวันที่มีการเคลื่อนไหวผิดท่าทาง เช่น ยกของหนักหรือยกของในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การออกกำลังกายที่ผิดท่าทาง

ในส่วนของการรักษา ในทางการแพทย์มีทางเลือกในการรักษาหลากหลายทางด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคนไข้เองด้วยว่าจะเลือกทางใดในการรักษา หากอาการไม่รุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์อาจให้รับประทานยาระงับปวด เพื่อลดการอักเสบ และทำกายภาพ หรือบางที อาจใช้การฉีดยาลดการอักเสบที่เส้นประสาท (Epidural Steroid Injection) แทนก็ได้ หากคนไข้มีอาการอย่างรุนแรง แพทย์ก็จะเลือกให้ใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ อันมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทในปัจจุบันนี้มีความทันสมัยมากขึ้น เทคโนโลยีการแพทย์มีการพัฒนาก้าวล้ำไปอีกขั้นซึ่งจะช่วยทำให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจมากขึ้น แพทย์อาจจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบ MIS (Minimal Invasive Surgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยเปิดแผลเล็ก โดยใช้เครื่อง X-ray C-Arm Fluoroscope ช่วยหาตำแหน่งของพยาธิสภาพทำให้สามารถผ่าตัดได้โดยเปิดแผลเล็กเพียง 1 – 1.5 เซนติเมตร ร่วมกับการใช้กล้อง microscope ใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านท่อเล็กๆ ไปตัดหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนที่เคลื่อนออก คนไข้จึงรู้สึกเจ็บน้อยมาก อยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน

ดังนั้น เราจะเห็นว่า อาการปวดหลังเรื้อรัง สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดเสียก่อน และคุณไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลในเรื่องของการผ่าตัดเพราะทุกวันนี้วิทยาการทางด้านการแพทย์มีการพัฒนาไปมาก การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังด้วยการผ่าตัด จึงสามารถทำได้หลากหลายวิธีซึ่งแต่ละวิธีก็ไม่ได้อันตราย เจ็บน้อยและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพักฟื้นกันนานอีกต่อไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?