เล่นกีฬาอย่างไร ไม่บาดเจ็บ

เล่นกีฬาอย่างไร ไม่บาดเจ็บ

HIGHLIGHTS:

  • หากร่างกายขาดน้ำขณะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย อาจส่งผลให้เป็นตะคริวและเกิดบาดเจ็บได้
  • การอบอุ่นร่างกาย (warm up) เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมและเกิดความคล่องตัวเป็นเรื่องสำคัญเพราจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้
  • การผ่าตัดรักษาอาการ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อทำให้อวัยวะนั้นๆ กลับมาใช้งานได้อย่างปกติ

การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬานั้น หากทำไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้เล่น รวมถึงเล่นกีฬาในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย อาจส่งผลให้เกิดการ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ตั้งแต่บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงการบาดเจ็บที่รุนแรง และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะของร่างกาย ขึ้นอยู่กับชนิดของการออกกำลังกายหรือประเภทของกีฬาที่เล่น โดยอาการเจ็บมักเกิดกับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ในนักวิ่งมักบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา (hamstring) หรือนักเทนนิสมีโอกาสเกิดบาดเจ็บข้อต่อไหล่มากกว่ากีฬาอื่น ๆ

สาเหตุของการ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

การใช้งานมากเกินไป (overuse injury) ยิ่งใช้มากก็เจ็บมาก เช่น บางครั้งการฝึกวิ่งสามารถทำได้ระยะหนึ่ง แต่ใจอยากวิ่งให้ได้ระยะทางมากขึ้นหรือต้องการลงแข่งในระยะทางที่มากกว่าที่เคยฝึก ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ในบางกรณีผู้เล่นหรือนักกีฬาอยู่ในช่วงกำลังพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่กลับฝืนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาซ้ำในบริเวณที่บาดเจ็บ จึงเกิดการใช้งานที่มากเกินไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อฉีกขาด จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่มากกว่าเดิม

อุบัติเหตุ (accident ) การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬามีความรุนแรงแตกต่างกันตามขนาดของกำลังและอัตราความเร็ว มักเกิดจากการกระแทกหรือปะทะอย่างรุนแรง รวมถึงการสูญเสียการทรงตัว ลื่นหกล้ม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามตำแหน่งของการใช้งาน เช่น ข้อต่อเคลื่อนหรือหลุด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกหัก บางครั้งอาจมีความรุนแรงถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

ป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และการบาดเจ็บซ้ำ

ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ผู้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายควรสวมแต่งกายให้เหมาะสมกับประเภทกีฬา รวมถึงมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่มีคุณภาพ เช่น หมวกขี่จักรยาน ป้องกันศีรษะจากอุบัติเหตุ หรือผู้รักษาประตูในการแข่งขันฟุตบอล ควรใส่ถุงมือเพื่อป้องกันข้อมือ ข้อนิ้วหัก รวมถึงนักวิ่งมาราธอนที่มักเกิดเอ็นลูกสะบ้าเข่าอักเสบ ควรสวมสายรัดเข่า (jumper’s knee support) ขณะวิ่งหรือฝึกซ้อม

ความพร้อม ผู้เล่นกีฬาต้องรู้ขีดจำกัดและความพร้อมของตนเอง หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น ร่างกายอ่อนเพลียเกินไปหรือเปล่า รวมถึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากหากร่างกายขาดน้ำ อาจส่งผลให้เป็นตะคริวและเกิดบาดเจ็บได้

ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกาย การอบอุ่นร่างกาย (warm up) ด้วยการยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอวัยวะส่วนที่ต้องใช้ในการเล่นกีฬา เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมและเกิดความคล่องตัว ป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา รวมถึงการคูลดาวน์ (cool down) ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยลดระดับความร้อนในร่างกายและทำให้หัวใจเต้นช้าลงจนเป็นปกติ

ระมัดระวังตัวและรู้จักผ่อนหนักให้เป็นเบา ออกกำลังกายและเล่นกีฬาทุกประเภทด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะรุนแรง รวมถึงเรียนรู้วิธีผ่อนหนักให้เป็นเบาหากเกิดอุบัติเหตุ เช่น รู้วิธีการล้มอย่างถูกต้อง ด้วยการไม่ฝืนธรรมชาติ

การรักษา อาการบาดเจ็บเอ็นและข้อ จากการเล่นกีฬา

ผู้ที่เกิดการ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกาย อย่ากลัว ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับอาการบาดเจ็บ โดยแพทย์จะประเมินและวินิจฉัยอาการบาดเจ็บโดยการงอเหยียดให้สุด การขยับข้อต่อดูว่าสามารถทำได้ตามปกติ หรือมีอาการบาดเจ็บจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ หากมีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยอาจรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด หรืออาจใช้การเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพื่อช่วยพยุงอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้น

ทั้งนี้หากอาการบาดเจ็บมีความรุนแรงมาก การผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อทำให้อวัยวะนั้นๆ กลับมาใช้งานได้อย่างปกติ ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีนี้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?