ความบกพร่องทักษะในการเรียน

ความบกพร่องทักษะในการเรียน

HIGHLIGHTS:

  • การที่เด็กไม่ฉลาดอาจเกิดจากความบกพร่องทักษะในการเรียน หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจก็จะสามารถช่วยเหลือให้ลูกผ่านพ้นภาวะบกพร่องนี้ไปได้
  • หนึ่งในสาเหตุความบกพร่องทักษะในการเรียนคือกรรมพันธุ์
  • ความบกพร่องทักษะในการเรียน ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กเรียนไม่เก่ง แต่อาจส่งผลถึงสุขภาพทางกายและใจ เช่น ปวดศรีษะ คลื่นไส้ ก้าวร้าว ซุกซน แยกตัว หรือซึมเศร้า

เมื่อเทคโนโลยีทุกแขนงต่างเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของทุกคน นอกจากการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมีสุขภาพดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ยังต้องการให้ลูกเป็นเด็กฉลาด จึงมักผลักดันเสริมทักษะการเรียนรู้ให้เด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปตลอดจนเข้าโรงเรียน แต่บางครั้งการเรียนรู้ของลูกน้อยอาจไม่เป็นดังหวัง ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวล หนึ่งในปัญหาด้านการเรียนรู้ของเด็กอาจมาจาก “ความบกพร่องทักษะในการเรียน” ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจก็จะสามารถช่วยเหลือให้ลูกผ่านพ้นภาวะบกพร่องนี้ไปได้

ความบกพร่องทักษะในการเรียน (Learning Disorders: LD) คือกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติในการเรียนรู้ของสมอง ส่งผลให้มีทักษะในการอ่าน สะกดคำ การเขียนหนังสือ หรือการคำนวณ ต่ำกว่าระดับเชาว์ปัญญาปกติอย่างน้อย 2 ชั้นปี และจะต้องไม่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของประสาทสัมผัสหรือการควบคุมกล้ามเนื้อ ภาวะสติปัญญาบกพร่อง ปัญหาด้านอารมณ์ หรือการขาดโอกาสในการเรียนรู้

ประเภทของความบกพร่องของทักษะการเรียน

1. ความบกพร่องของทักษะการอ่าน (Reading disability หรือ Dyslexia)

เป็นความบกพร่องที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีลักษณะอาการดังนี้

  • มีความยากลำบากในการอ่านคำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
  • อ่านช้า อ่านไม่คล่องแคล่ว ผสมคำไม่ได้
  • สะกดคำไม่คล่อง อ่านตะกุกตะกัก
  • อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน อ่านไม่เน้นคำ – อ่านข้ามคำยาก อ่านข้ามบรรทัด
  • อ่านแล้วจับใจความไม่ได้

2. ความบกพร่องของทักษะการเขียน (Writing disability หรือ Dysgraphia)

มีลักษณะอาการดังนี้

  • เขียนพยัญชนะผิด สะกดคำผิดบ่อยๆ
  • เขียนตัวหนังสือกลับด้าน หรือเขียนหัวพยัญชนะสลับด้าน เช่น ถ-ภ, ผ-พ, ด-ค, ต-ฅ
  • เรียงลำดับอักษรผิด เช่น กางเกง เป็น กางกเง
  • เขียนเป็นประโยคไม่ได้ ใช้หลักไวยากรณ์ผิด การแบ่งวรรคผิด เช่น สา-มา-รถไป-สพา-นคา-ยได้ (สามารถไปสะพานควายได้)
  • เขียนตามการออกเสียง เช่น ตลาด เป็น ตะหลาด, สงสาร เป็น สงสาน
  • เขียนพยัญชนะได้แต่อ่านไม่รู้เรื่อง เช่น มณญบสว
  • เขียนไม่ตรงบรรทัด ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นช่องไฟ

3. ความบกพร่องของทักษะการคำนวณ (Math disability หรือ Dyscalculia)

มีลักษณะอาการดังนี้

  • สับสนกับตัวเลข ไม่เข้าใจลำดับตัวเลข
  • ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข เช่น หน่วยสิบ ร้อย พัน
  • ไม่เข้าใจสัญลักษณ์และความหมายของบวก ลบ คูณ หาร
  • เชื่อมโยงระหว่างสัญลักษณ์เลขกับภาษาเขียนไม่ได้ ยุ่งยากกับการตีโจทย์ปัญหา เขียนตัวเลขสลับกัน
  • ทำบวก ลบ คูณ หารไม่ได้

สาเหตุ

  • ความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาท
  • กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาบกพร่องทางการเรียนเช่นกัน

อาการ

แสดงออกด้วย 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

  1. ปัญหาการเรียน สอบตก เรียนไม่ทันเพื่อน ทำงานไม่เสร็จ อ่านหนังสือแล้วลืมง่าย
  2. ปัญหาพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว ไม่ยอมไปโรงเรียน หนีโรงเรียน ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง
  3. ปัญหาอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า แยกตัว หงุดหงิดง่าย เข้ากับเพื่อนไม่ได้
  4. ปัญหาเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

ความผิดปกติที่พบร่วมกับความบกพร่องทักษะในการเรียน

  • โรคซนสมาธิสั้น (ADHD)
  • โรคกระตุก (Tics disorder)
  • กลุ่มที่มีความล่าช้าในภาษาและการพูด ปัญหาสายตาในด้านการกะระยะ (visual spatial)
  • ปัญหาการประสานการทำงานของตา กล้ามเนื้อมือ และขา

การให้ความช่วยเหลือ

  1. สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้การวินิจฉัยและได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
  2. พ่อแม่ ครู และแพทย์ร่วมกันหาสาเหตุของอาการแสดง เพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสม
  3. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค รวมถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก
  4. ควรจัดทำแผนการเรียนเฉพาะตัว (Individual Education Program, IEP) รวมถึงให้การช่วยเหลือปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ไปพร้อมๆ กัน
  5. เฝ้าระวังภาวะหรือความผิดปกติที่พบร่วมกันกับความบกพร่องทักษะในการเรียน
  6. ค้นหาและพัฒนาจุดเด่นด้านอื่นๆ ของเด็กร่วมไปด้วย เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตัวเอง

แม้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะตั้งความหวังให้ลูกน้อยเรียนเก่ง เป็นเด็กเฉลียวฉลาด แต่ควรเข้าใจว่าบางครั้งอาจเกิดจาก “ความบกพร่องทักษะในการเรียน” ทำให้ลูกน้อยเรียนช้า ไม่ทันเพื่อนๆ หากคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจและช่วยเหลือลูกน้อย ในที่สุดก็จะสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตขึ้นด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเอง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?