ปอดบวมน้ำ

ปอดบวมน้ำ

Q&A ปอดบวมน้ำ

คำถาม : น้ำท่วมปอด กับ ปอดบวมน้ำ คืออะไร

คุณหมอ : ค่อนข้างใกล้เคียงกันมากแต่ศัพท์ทางการแพทย์ไม่เหมือนกัน ภาวะที่มีน้ำอาจจะอยู่ในเนื้อปอดหรืออาจจะอยู่ในช่องเยื่อหุ้มที่มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ถ้าเป็นน้ำในเนื้อปอด เราเรียกว่า pulmonary edema แต่ถ้ามีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจะเรียกว่า pleural effusion ปอดบวมน้ำ Pulmonary edema กับปอดบวมติดเชื้อ pneumonia ก็คนละโรคกัน แต่ปอดบวมจากการติดเชื้อจะนำไปสู่ภาวะปอดบวมน้ำภายหลังได้

คำถาม : สาเหตุปอดบวมน้ำเกิดจากอะไร

คุณหมอ : ปอดกับหัวใจทำงานสัมพันธ์กันมาก ปอดบวมน้ำ pulmonary edema อาจเกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอาจจะมีปัญหาหรือจะเป็นจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่จากโรคหัวใจก็ได้ สาเหตุของภาวะ pulmonary edema ทีมาจากหัวใจคือ ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลง กล่าวคือ หัวใจมีส่วนประกอบคือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอาจจะเกิดการตีบ ตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลง หรือหัวใจอ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออ่อนแรงจากสารพิษ อย่างเช่น กินเหล้า โคเคน หรืออาจจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้หรือเป็นภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจอาจจะมีการตีบ การรั่ว หรือความดันโลหิตสูงก็จะทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำได้

คำถาม : อาการจะเป็นยังไง

คุณหมอ : ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็คือ เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ ทำให้เกิดโรคนี้ได้ คนไข้จะมีอาการเหนื่อย จะเป็นลักษณะเฉพาะ คือหายใจไม่ออก นอนราบจะยิ่งเหนื่อยมากขึ้นบางคนจะมีอาการคล้ายๆกับคนจมน้ำ เพราะปอดแลกเปลี่ยนก๊าซไม่ได้ ถ้าอาการมากๆอาจจะไอออกมาเป็นฟองสีชมพู ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตแล้วค่อนข้างร้ายแรง

คำถาม : วินิจฉัยจากอะไร

คุณหมอ : อันนี้เราก็ต้องแยกก่อนว่า สาเหตุมาจากโรคหัวใจหรือไม่ จากการซักประวัติ แพทย์ก็จะดูประวัติคนไข้ มีอาการเหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ แล้วก็ตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยแยกโรค เช่น การฟังเสียงปอด ฟังเสียงหัวใจ จากนั้นใช้ผลการตรวจเลือด กราฟหัวใจ เอ็กซเรย์ปอด อัลตร้าซาวด์หัวใจ มาช่วยยืนยันการวินิจฉัย และแยกโรค

คำถาม : ปอดบวมน้ำมีผลข้างเคียงอะไร

คุณหมอ : ถ้าเกิดมีน้ำรั่วเข้าไปในถุงลมเล็กๆในปอด คนไข้จะนอนราบไม่ได้แล้ว ทิ้งไว้ไม่รักษาจะเกิดภาวะน้ำท่วมปอดมากขึ้นๆเรื่อยๆ คนไข้จะรู้สึกเหมือนจมน้ำจากนั้นการแลกเปลี่ยนก๊าซจะเสีย สมองก็ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจทำงานไม่ได้ ก็อาจจะเสียชีวิตได้

คำถาม : ดูแลตัวเองยังไงให้อยู่ไกลจากโรคนี้ได้มากที่สุด

คุณหมอ : ต้องหมั่นดูแลตัวเอง ตรวจสุขภาพ เจาะเลือดตรวจ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่นมีความดันโลหิตสูงก็ต้องควบคุมให้ดี เลิกกินเหล้า งดสารพิษที่มีผลต่อหัวใจ ออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียดมาก

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?