อันตรายจากการปวดไหล่เรื้อรัง

อันตรายจากการปวดไหล่เรื้อรัง

ข้อหัวไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มาก เราจึงมักใช้หัวไหล่ในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ บ่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว จึงไม่น่าแปลกที่เราจะมีอาการ ปวดไหล่ กันมาก แต่ถ้าอาการปวดเป็นไม่นานก็ไม่น่าห่วงสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นบ่อย ๆ หรือเป็นมานานเกิดอาการ ปวดไหล่เรื้อรัง อันนี้ไม่ดีแน่

อาการปวดไหล่ เป็นอย่างไร

ปวดไหล่ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการบ่งชี้ก็จะมี

  • อาการปวดไหล่ บริเวณต้นแขน
  • ปวดด้านหลังหัวไหล่
  • ปวดไหล่บริเวณต้นคอและสะบัก

ปวดไหล่ แบบไหนถึงจะเรียกว่าปวดไหล่เรื้อรัง

โดยมากอาการปวดก็จะปวดบ่อย ๆ หรือปวดตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป ลักษณะนี้จัดว่าเป็นอาการปวดไหล่เรื้อรังได้

อาการปวดลักษณะไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์

  • มีอาการปวดมานานกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งอาการปวดนี้รวมไปถึงการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่ด้วย
  • มีอาการชาของแขน
  • มีอาการบวมของข้อไหล่หรือบริเวณหัวไหล่
  • มีลักษณะกล้ามเนื้อลีบ
  • บางรายอาจมีอาการอื่น เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่วมด้วย

ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

ปวดไหล่เกิดจากสาเหตุใด

ปวดไหล่ เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุของอาการปวดไหล่อาจเกิดจาก

  • ปัญหาของโครงสร้างในข้อไหล่เอง กระดูก กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือถุงหุ้มเส้นเอ็น โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ อาชีพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยบอกว่าผู้ป่วยจะจัดอยู่ในกลุ่มสาเหตุใด ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเป็นแล้วสะสม หรือเป็นมานานแล้วไม่รักษาก็จะทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังได้
  • นอกจากนั้นอาการปวดไหล่ยังพบได้จากสาเหตุของความผิดปกติจากอวัยวะข้างเคียง คืออาการเจ็บป่วยต่างๆ สามารถส่งผลทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติดจนส่งผลให้ปวดไหล่ได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด วัณโรคปอด เบาหวาน ไทรอยด์ กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น

คนในช่วงวัยใดที่จะพบอาการปวดไหล่มากที่สุด

จริงๆ แล้วอาการนี้พบได้ทุกวัย ถ้าเป็นคนอายุน้อยก็น่าจะมาจากการเล่นกีฬาการออกกำลังที่หักโหมจนอาจเกิดกล้ามเนื้อฉีก หรือกิจกรรมที่ทำแล้วต้องใช้หัวไหล่ซ้ำๆ หรืออุบัติเหตุ

ถ้าเป็นคนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุอาจเกิดจากการสึกเสื่อมของกระดูกข้อไหล่ ภาวะหัวไหล่ติดหรือ ภาวะการอักเสบของเส้นเอ็นหัวไหล่ (Rotator Cuff) ในส่วนของคนวัยทำงานในตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดไหล่มากขึ้น และอาจจะทวีความรุนแรงจนถึงขั้นปวดไหล่เรื้อรังได้

เพราะด้วยลักษณะการใช้ร่างกายที่ผิด การอยู่ในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน รวมไปถึงปัจจุบันคนในช่วงวัยนี้เริ่มให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย และบางท่านอาจออกหักโหมมากเกินไปหรืออาจออกกำลังผิดท่า ไม่ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อน-หลังออกกำลังกาย จึงทำให้โอกาสที่จะบาดเจ็บที่หัวไหล่มีสูงขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการปวดไหล่ทั้งสิ้น แต่ด้วยไม่อยากมาหาหมอบางคนจึงทนเก็บอาการไว้ แต่ยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งทำให้มีโอกาสทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังมากยิ่งขึ้น

ถ้าปล่อยไว้นาน ไม่ทำการรักษาอาการปวดไหล่ จะอันตรายแค่ไหน

หากปล่อยไว้นานจนมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ได้ลำบากมากขึ้น

การเคลื่อนไหวที่ลดลงจะเป็นเกือบทุกทิศทาง ปวดไหล่ ยกแขนได้ไม่สุด หากเป็นกรณีที่มีการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นคือเส้นเอ็นข้อไหล่อาจจะมีการฉีกขาด ซึ่งตอนแรกอาจจะฉีกขาดเล็กน้อยแต่พอปล่อยไว้นานก็อาจจะฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นขาดทั้งเส้นเลยก็ได้ แน่นอนว่าถ้าถึงขั้นนั้นก็จะทำการรักษาได้ยากมากยิ่งขึ้น

การรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรัง ทำได้อย่างไรบ้าง

การรักษาอาการปวดไหล่ ประกอบด้วย

  • การรักษาอาการทั่วไป
  • การรักษาด้วยกายภาพบำบัด
  • และการผ่าตัด

ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรักษาได้ตั้งแต่ปวดไหล่ทั่วไปจนถึงระดับปวดไหล่เรื้อรัง ซึ่งจะใช้วิธีไหนรักษาก็ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเป็นมากเป็นน้อยแค่ไหน ความหนักเบาของอาการ

หากมีอาการปวดไหล่ทั่วไปหรือเป็นแบบเฉียบพลัน เบื้องต้นหมอก็จะให้งดการเคลื่อนไหวของไหล่ข้างที่มีอาการ และอาจจะให้รับประทานยาแก้ปวด

ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นมาอีกหน่อยหมอก็อาจจะให้มีการทำกายภาพบำบัด เลือกใช้ความเย็นหรือความร้อนประคบร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการหนักมากรักษาด้วยกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้นอย่างน้อย 3-6 เดือน เรียกว่ามีอาการปวดไหล่เรื้อรัง แพทย์ก็จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัด

เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าตัด ? การรักษาอาการปวดไหล่เรื้อรังด้วยวิธีผ่าตัด

วิธีการผ่าตัดมี 2 วิธี คือ วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง และวิธีการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งการเลือกวิธีและเทคนิคการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ชนิดของรอยโรค

ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้องข้อดี คือ บาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย เพราะใช้แผลผ่าตัดแบบรูเจาะและใช้เครื่องมือผ่านรูเจาะเข้าทำการผ่าตัดซ่อมสร้าง ส่งผลให้การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอื่นๆน้อย การฟื้นตัวมักจะเร็วกว่า

วิธีการดูแลตัวเองไม่ให้ปวดไหล่

เมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือเมื่อยล้าที่บริเวณหัวไหล่ ก็ควรพักการใช้ข้อไหล่ อาจจะใช้การนวดร่วมกับการประคบเย็นหรือประคบร้อนก็ได้ แต่ในกรณีบาดเจ็บของข้อไหล่ควรหลีกเลี่ยงการนวดและใช้การประคบเย็นเป็นหลัก

แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่อย่างถูกต้องก่อนและหลังการออกกำลังกายไหล่หรือใช้งานไหล่

เราจะเห็นได้ว่าอาการปวดไหล่สามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มต้นที่การสังเกตอาการ ท่าทางของตนเองว่ามีความผิดปกติอย่างไร น่าจะมีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร และปรับเปลี่ยนท่าทางและอิริยาบถหรืองดการใช้งานบ้างก็จะช่วยได้

หากทำแบบนี้ก็ลดความเสี่ยงที่จะมีอาการปวดไหล่เรื้อรังลงได้อย่างมากทีเดียว แต่หากปฏิบัติแล้วยังมีอาการปวดไหล่อยู่ ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

วิดีโอคอล หาหมอกระดูกและข้อได้ที่บ้าน ทำนัดล่วงหน้า 1 วัน

มีปัญหาด้านกระดูกและข้อ รพ.สมิติเวช พร้อมให้บริการ VDO Call ปรึกษาแพทย์เฉพาะโรคกระดูกและข้อ ทางออนไลน์ได้ที่บ้าน หากไม่สะดวกมา รพ.

ค่าบริการและค่ายา
- ปรึกษาหมอเฉพาะทางออนไลน์ 700 บาท/15 นาที วันนี้ – 30 มิถุนายน 2566
- กรณีต้องการยาตามที่คุณหมอแนะนำ รับส่วนลดค่ายา 20% วันนี้ - 31 ธันวาคม 2566

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หรือ ทำนัด VDO Call ปรึกษาหมอเฉพาะทางด้านโรคกระดูกและข้อ คลิกที่นี่

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?