น้ำมะนาว ช่วยให้ผิวหน้าใสได้จริงหรือ?

น้ำมะนาว ช่วยให้ผิวหน้าใสได้จริงหรือ?

HIGHLIGHTS:

  • มะนาวมักเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นำมาใช้ในการดูแลผิวพรรณ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังมีคุณสมบัติเป็น ไวท์เทนนิ่งช่วยให้ผิวกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมักจะสกัดแล้วนำมาผสมกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
  • ในมะนาวมีกรดซิตริกที่อาจทำให้ผิวหนังบริเวณปลายนิ้วแข็ง บาง ลอก และเป็นรอยแตกได้ นอกจากนี้ยังมีสารเบอร์แกพเทน (bergapten) ที่สามารถกระตุ้นให้ผิวของผู้ที่สัมผัสเกิดผื่นแพ้แสง มักพบในผู้ที่ออกแดดต่อเนื่อง
  • การใช้น้ำมะนาวสดมาพอกหน้า ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ นอกจากผิวจะไม่ช่วยให้ผิวขาวขึ้นแล้ว หลายคนอาจมีอาการคัน แสบ และระคายเคืองที่ใบหน้าได้

ปัจจุบัน นอกจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว ผลัดเซลล์ผิว และบำรุงผิวแล้ว หลายคนเริ่มหันกลับไปใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติมาประทินผิวแทนในบางขั้นตอน ซึ่งในตอนนี้มีกระแสการใช้น้ำมะนาวสดมาพอกหน้า เพื่อให้ผิวขาว กระจ่างใส แต่พบว่าหลายคนอาจมีอาการผิวแพ้ ระคายเคือง บวมและอักเสบตามมาได้

สารสกัดธรรมชาติก็อาจทำให้ ‘ผิว’ แพ้ได้

ปกติแล้ว พืชบางชนิดนั้นมีพิษกับผิวหนังได้ หากไม่ระมัดระวัง และเผลอไปสัมผัสด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  สามารถจำแนกตามอาการที่แสดงออกได้เป็น

  • พืชที่ก่อให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ (irritant and allergic contact dermatitis) พืชส่วนใหญ่ที่มีพิษต่อผิวหนัง โดยจะทำให้เกิดผื่นแดง คัน รูปร่างของผื่นอาจเป็นทางยาวๆ หรือปื้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัส พืชในกลุ่มนี้ เช่น โป๊ยเซียน และพญาไร้ใบ
  • พืชที่ก่อให้เกิดผื่นหนาคันเรื้อรัง เช่น กรดซิตริก (citric acid) ในมะนาว และสารจากกระเทียม อาจทำให้บางคนมีผิวหนังบริเวณปลายนิ้วแข็ง บาง ลอก และเป็นรอยแตกได้ มักพบในผู้ที่ชอบทำอาหาร
  • พืชที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ เช่น ตำแย (urtica urens หรือ stinging nettles) และหมามุ่ย (cowhage, mucuna pruriens) มีขนพิษซึ่งมีสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine), ฮีสตามีน (histamine) และ ซีโรโทนิน (serotonin) ทำให้ผู้สัมผัสเกิดผื่นลมพิษขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายในเวลาอันสั้น
  • พืชที่ก่อให้เกิดผื่นแพ้แสง (phytophotodermatitis) พิษจากพืชบางชนิด จะทำปฏิกิริยากับแสงแดด ทำให้เกิดผื่นผิวหนังได้ เช่น สารเบอร์แกพเทน (bergapten) ซึ่งพบในมะกรูด มะนาว ผักชีฝรั่ง และแครอท ผู้ที่สัมผัสกับสารประเภทนี้เมื่อถูกกับแสงแดดจะมีผื่นดำเกิดขึ้นใน 2-7 วัน โดยไม่มีอาการคันหรือแสบนำมาก่อน ในรายที่ได้รับสารเข้าไปมากอาจมีผื่นแดง พอง ในบริเวณที่ถูกแสงแดดได้

น้ำมะนาวพอกหน้า อันตรายหรือไม่ ถ้าใช้กับผิวโดยตรง

ในประวัติศาตร์เคยมีการระบุว่า ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 มะนาวถูกใช้ในการป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งเคยเป็นปัญหาของนักเดินเรือมาช้านาน  เพราะในมะนาวมีวิตามินซีอยู่มาก

มะนาวมีน้ำหอมระเหยที่ให้กลิ่นสดชื่น  เพราะมีส่วนประกอบของสารซิโตรเนลลัล (Citronellal) ซิโครเนลลิล อะซีเตต (Citronellyl Acetate) ไลโมนีน (Limonene) ไลนาลูล (Linalool) เทอร์พีนีออล (Terpeneol) ฯลฯ รวมทั้งกรดซิตริก (Citric Acid) กรดมาลิค (Malic Acid) ซึ่งถือเป็นกรดจากผลไม้ (AHA: Alpha Hydroxy Acids) ที่มีคุณสมบัติช่วยให้เซลล์ผิวหน้าที่เสื่อมสภาพหลุดลอกออกไป พร้อมๆ กับช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ช่วยให้รอยด่างดำหรือรอยแผลเป็นจางลง

มะนาวจึงมักเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นำมาใช้ในการดูแลผิวพรรณ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสาเหตุของริ้วรอย นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติเป็น ไวท์เทนนิ่งช่วยให้ผิวกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมักจะสกัดแล้วนำมาผสมกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว แต่หลังจากมีกระแสการใช้น้ำมะนาวสดพอกหน้า เพื่อให้ผิวขาว กระจ่างใส กลับพบว่าหลายคนมีอาการคัน แสบ ระคายเคือง ซึ่งอาการนี้เรียกว่า berloque dermatitis ภาวะนี้เป็นอาการของผื่นผิวหนังรูปแบบหนึ่ง สาเหตุมาจากการสัมผัสถูกสาร bergapten ซึ่งพบได้ในมะกรูดและมะนาว เมื่อสัมผัสไปบ่อยๆ แล้วไปออกแดดจัดอาจเกิดผื่นดำเกิดขึ้นใน 2-7 วัน โดยไม่มีอาการคันหรือแสบนำมาก่อน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และผิวอักเสบตามมา

ดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าแพ้น้ำมะนาว

  • เวลาประกอบอาหาร ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยให้ใส่ถุงมือพลาสติก หรือหากสัมผัสโดนให้รีบล้างออก
  • งดรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของมะนาวหรือพืชตระกูลซิตรัส เช่น ส้มตำ ต้มยำ ยำ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของมะนาว
  • หลีกเลี่ยงน้ำหอมและเครื่องสำอางที่ผสมน้ำหอมที่มาจากพืชตระกูลซิตรัส โดยสังเกตที่ส่วนผสมในฉลากจะมีคำว่า  ซิโตรเนลลัล (Citronellal) ซิโครเนลลิล อะซีเตต (Citronellyl Acetate) ไลโมนีน (Limonene) ไลนาลูล (Linalool) เป็นต้น
  • ทาครีมที่ผสมสารกันแดดที่มีส่วนผสมของ SPF 30 ขึ้นไป เวลาออกนอกบ้าน
  • หากรอยดำ รอยแดง ไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรีบหาทางรักษา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
Ask a Quick Question
Ask a Quick Question
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?