น้ำคั่งในสมอง Hydrocephalus

น้ำคั่งในสมอง Hydrocephalus

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะน้ำคั่งในสมองอาจเกิดจากความผิดปกติระหว่างพัฒนาการของทารกในครรภ์ หรือความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยสามารถแสดงอาการได้กับทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม
  • การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำ (Shunt) เป็นวิธีการทางเดียวในการรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
  • การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นโดยช่วยลดความผิดปกติของร่างกาย ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ก่อนที่ระบบประสาทจะถูกทำลายจนไม่สามารถแก้ไขได้

ภาวะน้ำคั่งในสมอง เป็นภาวะร้ายแรงที่เกิดจากโพรงสมองและไขสันหลังมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยง (Cerebrospinal Fluid- CSF) ขึ้นมามากเกินไป ถ้าหากร่างกายเกิดปัญหาการดูดซึมหรือเกิดอาการอุดตันการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงนี้ ก็จะทำให้มีน้ำส่วนเกินนี้สะสมในโพรงสมอง ยิ่งมากขึ้น โพรงสมองก็จะขยายใหญ่ขึ้นทำให้เกิดแรงดันในสมองมากขึ้นจนกลายเป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

ภาวะน้ำคั่งในสมอง มี 2 ชนิด

  • ภาวะไม่มีการอุดตันของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยง (Communicating hydrocephalus) น้ำหล่อเลี้ยงยังคงสามารถไหลเวียนไปมาได้ แต่จะไม่สามารถถูกดูดซึมหรือถูกระบายออกไปได้
  • ภาวะมีการอุดตันของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยง (Non-communicating hydrocephalus) น้ำหล่อเลี้ยงในภาวะโพรงสมองที่มีการอุดตัน (Non-communicating hydrocephalus หรือ Obstructive hydrocephalus) จะถูกบล็อกช่องทางการไหลเวียนบางช่องหรือหลายๆ ช่อง ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยๆ คือ “ท่อระบายน้ำตีบ” (Aqueductal stenosis) หมายถึงท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงในสมองส่วนกลางแคบลง

ภาวะน้ำคั่งในสมองบางชนิดเป็นกรรมพันธุ์ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติระหว่างพัฒนาการของทารกในครรภ์ หรือความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยสามารถแสดงอาการได้กับทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม นอกจากนี้การบาดเจ็บหรือโรคบางโรคอาจเป็นสาเหตุของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำได้อีกด้วย ในบางรายผู้ป่วยอาจมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ปรากฏอาการจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งกรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการตีบของท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยง

อาการ จะแตกต่างกันไปตามการเจริญเติบโตของเด็ก หากทารกมีภาวะนี้ขณะอยู่ในครรภ์แม่ เมื่อแพทย์ทำอัลตร้าซาวด์จะพบโพรงหรือช่องว่างในสมองของเด็ก เมื่อคลอดแล้วอาการของโพรงสมองคั่งน้ำที่เห็นได้ชัดคือ การขยายตัวที่ผิดปกติของศีรษะของทารกเมื่อโตขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเกี่ยวข้องกับความดันของน้ำในโพรงสมองสูง อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัวและปัญหาเรื่องสายตา
ผู้ป่วยในวัยหนุ่มสาว หรือ วัยกลางคน มักมีอาการวิงเวียนศีรษะ และมีปัญหาสายตา

ผู้สูงอายุซึ่งเป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำที่มีความดันในสมองปกติ (Normal Pressure Hydrocephalus, NPH) อาการที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นการสูญเสียการควบคุมการทำงานของร่างกาย 3 ด้านคือ การทรงตัวขณะเดิน ความคิดสับสน และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การวินิจฉัยโรค แบ่งเป็น 3 ลักษณะ

  • การสัมภาษณ์ซักประวัติและการตรวจร่างกายหรือระบบประสาท
  • การตรวจหาโพรงในสมองโดยรังสีวิทยา
    • ตรวจโดยคลื่นแม่เหล็ก (MRI)
    • ตรวจโดยเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ CT หรือ CAT Scan
  • ทดสอบเพื่อหาภาวะของน้ำไขกระดูกสันหลัง (Cerebrospinal Fluid หรือ CSF) เพื่อดูการตอบสนองต่อการผ่าตัดใส่สายระบายน้ำ

การรักษา

การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำ (Shunt) เป็นทางเดียวเท่านั้นในการรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

โดยสอดท่อระบายน้ำเข้าโพรงสมองเพื่อระบายน้ำไปอวัยวะอื่นในร่างกายที่ช่วยถ่ายน้ำออกไป

ท่อระบายน้ำประกอบด้วย สายสวนโพรงสมอง วาล์วสำหรับควบคุมการไหลเวียนของน้ำในไขกระดูกสันหลัง และสายระบายน้ำในไขกระดูกสันหลังไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย

การทำงานของสายท่อระบายน้ำจะถูกซ่อนไว้อย่างดีภายใต้ผิวหนังอย่างมิดชิด ไม่ได้ห้อยอยู่ด้านนอกของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีทางเลือกให้กับผู้ป่วยบางรายด้วยการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องในโพรงสมอง เพื่อสร้างช่องระบายน้ำภายใน

การผ่าตัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสอดกล้องขนาดจิ๋วทำด้วยเทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติก (fiber optic) เพื่อเข้าถึงส่วนที่ยากแก่การเข้าถึงในสมอง ทำให้แพทย์สามารถเห็นโพรงในสมองได้ และเมื่อได้ตำแหน่งแล้วแพทย์จะทำการเจาะรูเล็กๆ ที่พื้นของโพรงในสมองเพื่อระบายน้ำไปที่รอบๆ ผิวของสมองเพื่อหลีกเลี่ยงการอุกตัน

การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำ (shunt) เหมาะกับผู้ป่วยเด็กทุกคนหรือไม่?

ปัจจัยในการรักษามีหลากหลายรูปแบบ แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเหมาะกับการรักษาโดยการผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหรือไม่
ผลของการใส่สายระบายน้ำจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระเวลาที่ออกอาการ ขนาดของโพรงที่เห็นจากการสแกนนั้นใหญ่กว่า CFS ในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือค่าแรงต้านทานการไหลออกของน้ำในไขกระดูกสันหลังที่สูงขึ้นหรือความผิดปกติของความดันในไขกระดูกสันหลัง

ถึงแม้ผู้ป่วยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำจะไม่สามารถหายเป็นปกติได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผู้ป่วยและครอบครัวจะรู้สึกได้ว่าการรักษาเป็นผลสำเร็จ 100% หากการผ่าตัดใส่สายระบายน้ำช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นโดยช่วยลดความผิดปกติของร่างกาย หรือทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ก่อนที่ระบบประสาทจะถูกทำลายจนไม่สามารถแก้ไขได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?