ปราบอาการท้องผูกในผู้สูงวัยให้อยู่หมัด

ปราบอาการท้องผูกในผู้สูงวัยให้อยู่หมัด

HIGHLIGHTS:

  • ท้องผูก คืออาการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก หลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด รวมถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยให้ถ่ายคล่องขึ้นโดยการ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง ออกกำลังกายเบาๆ ทำจิตใจให้แจ่มใส ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน และไม่ควรใช้ยาระบายในผู้สูงวัยนานจนติดเป็นนิสัย
  • หากท้องผูกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ลักษณะอุจจาระผิดปกติไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและรับการรักษาที่ถูกต้อง

 

นอกจากอาการท้องผูกในผู้สูงวัยจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ในบางกรณีหากเป็นมากอาจทำให้เกิดความเครียด จิตใจห่อเหี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ทั้งๆ ควรเป็นช่วงที่หมดห่วง สามารถสนุกสนานกับครอบครัวในบั้นปลายของชีวิตได้ดีที่สุด

แบบไหนเรียกท้องผูก

เมื่อใดก็ตามที่การถ่ายอุจจาระเป็นเรื่องยาก ต้องเบ่งและใช้เวลานาน อุจจาระมีลักษณะแข็งมาก รวมถึงหลังจากถ่ายเสร็จแล้วยังปวดท้องและมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด นอกจากนี้การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็ถือว่ามีอาการท้องผูกเช่นกัน เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารตั้งแต่ต้นจนถึงการถ่ายอุจจาระ ใช้เวลาประมาณ 1–3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร การดื่มน้ำ ออกกำลังกาย และร่างกายของแต่ละคน ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1 วัน ถ้าไม่ถ่าย อุจจาระจะถูกเก็บไว้ในลำไส้ใหญ่ เมื่อสะสมมากขึ้น ทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายด้วยความลำบาก

เหตุใด ผู้สูงวัยจึงท้องผูก

นอกจากระบวนการย่อยทำหน้าที่ลดลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีปัญหาท้องผูกมักเกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง ดังนี้

  • ปัญหาเรื่องฟันและช่องปาก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจสร้างปัญหาการเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ส่งผลให้ท้องอืดเฟ้อหลังอาหาร จนทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารเพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
  • ดื่มน้ำน้อย ผู้สูงอายุกับปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นของคู่กัน หลายท่านจึงเลือกที่จะดื่มน้ำน้อยหรือไม่ดื่มระหว่างวันเลย อาการท้องผูกจึงเป็นปัญหาที่ตามมา
  • ขาดการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายในผู้สูงอายุเป็นเรื่องยาก อาจเนื่องด้วยกลัวการพลัดตกหกล้ม หรือบางกรณีที่มีอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง รวมถึงไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย
  • อาการป่วยเรื้อรัง และได้รับยาบางชนิด ส่งผลให้มีอาการท้องผูก
  • มีความเครียด หรือมีนิสัยกลั้นอุจจาระ
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากกากใยอาหารมักเคี้ยวยาก มีความเหนียว ยากต่อการเคี้ยวบด ผู้สูงอายุจึงมักเลือกรับประทานอาหารนิ่มที่ขาดใยอาหาร

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยให้ถ่ายคล่อง

  • หากมีปัญหาช่องปากและฟัน ผู้สูงอายุควรได้รับการรักษาเพื่อช่วยให้การเคี้ยวอาหารง่ายขึ้น และช่วยให้การรับประทานอาหารมีรสชาติมากขึ้น
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว โดยแบ่งดื่มทั้งวัน
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อเพิ่มกากใยให้อุจจาระคล่องขึ้น
  • ออกกำลังกายเบาๆ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดินเล่นหลังรับประทานอาหาร หรือแกว่งแขนยามเช้า จะช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว ช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดีขึ้น
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน และไม่ควรใช้ยาระบายในผู้สูงวัยนานจนติดเป็นนิสัยทำให้ไม่สามารถขับถ่ายด้วยตัวเอง
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่อาจมีผลทำให้ท้องผูก

 

กากใย ตัวช่วยสำคัญ

โดยปกติผู้สูงอายุควรได้รับใยอาหารประมาณวันละ 20 – 35 กรัม แต่ในผู้ที่มีปัญหาท้องผูกควรได้รับอาหารที่มีใยอาหารเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 25 – 60 กรัม การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงจะช่วยเพิ่มกากและน้ำหนักในอุจจาระ รวมถึงกากใยยังช่วยอุ้มน้ำ ทำให้อุจจาระอ่อนและเคลื่อนตัวได้ง่าย ช่วยการขับถ่ายให้สะดวกขึ้น

เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาฟันไม่แข็งแรง หรืออาจไม่มีฟันเลย ส่งผลให้บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เกิดอาการท้องอืดเฟ้อ อีกทั้งกากใยอาหารส่วนใหญ่พบในผัก ผลไม้ มีเนื้อเหนียว ยากต่อการเคี้ยวให้ละเอียด การดัดแปลงอาหารให้มีลักษณะอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย เคี้ยวง่าย กลืนง่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหาร ดัดแปลงให้อาหารอ่อนนุ่มลง เช่น การหั่น การสับหรือการปั่นอาหารให้ชิ้นเล็กลงก่อนนำไปประกอบอาหารด้วยวิธีการนึ่ง ตุ๋น หรือการต้มอาหารให้นิ่ม

นอกจากนี้ทางเลือกการรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มกากใยทำได้โดย

  • เปลี่ยนจากการรับประทานข้าวขาว เป็นข้าวกล้องหุงนิ่ม ข้าวโอ๊ต หรือขนมปังโฮลวีท
  • เพิ่มอาหารว่างด้วยการใช้ธัญพืช เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง โดยการต้มให้สุกค่อนข้างนิ่ม
  • หั่นผักให้เล็กลงและเลือกการปรุงให้ผักนิ่ม โดยควรรับประทานทุกมื้ออย่างน้อยมื้อละ 100 กรัม
  • เลือกผลไม้สุกมากกว่าผลไม้ที่ยังดิบ เพื่อง่ายต่อการเคี้ยว ย่อยง่าย และช่วยให้การขับถ่ายคล่องขึ้น
  • ปรุงอาหารให้น่ารับประทาน เลือกใช้เครื่องปรุงที่ผู้สูงอายุชอบ เพื่อให้เจริญอาหาร
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างมื้ออาหารและระหว่างวัน

 

ตัวอย่างอาหารที่มีใยอาหารสูง

ตัวอย่างอาหาร     ปริมาณใยอาหาร(กรัม)
 ข้าวโอ๊ต (แห้ง) 1 ถ้วยตวง 12.3
 กระเจี๊ยบมอญ ฝักอ่อน 8 ฝัก 4.2
 บล็อคโคลีต้ม 2 ถ้วยตวง 3.3
 ข้าวโพดฝัก ต้ม (เฉพาะเมล็ด) 3/4 ถ้วยตวง 2.4
 แครอท ต้ม 3/4 ถ้วยตวง 3
 อะโวคาโด 1/2 ผลใหญ่ 6.7
 กล้วยหอม 1 ผลใหญ่ 2.8
 แอปเปิ้ลฟูจิ (รวมเปลือก) 1/2 ผลใหญ่ 2.1

ตัวอย่างเมนูอาหาร 1 วัน ที่มีใยอาหาร อย่างน้อย 20 กรัมต่อวัน

มื้อเช้า

  • ข้าวต้มกล้องและกุ้งใส่ผักสามสี (ข้าวโพด แครอท ถั่วลันเตา) และสาหร่ายวากาเมะ
  • น้ำเต้าหู้ใส่เม็ดแมงลักและลูกเดือยมื้อเที่ยง
  • ข้าวกล้องหุงนิ่ม
  • กุ้งทอดซอสมะขาม
  • ต้มจืดปวยเล้งหมูสับเห็ดหอม
  • ถั่วเขียวต้มน้ำตาล (หวานน้อย)

มื้อว่างบ่าย

  • ผลไม้ปั่น (ไม่แยกกาก) แอปเปิ้ล 100 กรัม + อะโวคาโด 30 กรัม + ข้าวโอ๊ตสุก 2 ช้อน

มื้อเย็น

  • ข้าวกล้องหุงนิ่ม
  • ปลานึ่งขิง
  • กะหล่ำปลีตุ๋นหมูสับเห็ดหอม
  • กล้วยน้ำว้า

ท้องผูก เป็นเรื่องที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สามารถดีขึ้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลของบุตรหลาน แต่หากท้องผูกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ลักษณะอุจจาระผิดปกติไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องระมัดระวังมากขึ้น ถ้าพบมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?