เรื่องไม่ลับกับริดสีดวงทวาร

เรื่องไม่ลับกับริดสีดวงทวาร

HIGHLIGHTS:

  • ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดสดๆ ออกมาตามหลังอุจจาระ มีก้อนหรือติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบๆ ปากทวารหนัก อาจเป็นอาการของริดสีดวงทวาร
  • โรคริดสีดวงทวาร ไม่สามารถลุกลามไปเป็นโรคมะเร็งลำไส้ แต่มีอาการแสดงของโรคคล้ายกันจึงทำให้คนเข้าใจผิด
  • โรคริดสีดวงทวาร แม้จะรักษาได้ เช่น การรักษาด้วยยา ผ่าตัดริดสีดวง แต่ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ การแก้ไขจึงควรปรับเปลี่ยนที่พฤติกรรมให้ถูกสุขลักษณะ

“ผมไม่นั่ง เพราะว่าลมมันเย็น…..”

เชื่อว่าคำพูดลักษณะนี้ หลาย ๆ คนคงเคยได้ยิน บางคนก็เคยเอามาพูดเป็นมุกตลกขบขันกันด้วย ซึ่งเป็นคำพูดจากโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่ผู้พูดมีอาการของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อย และเมื่อเกิดอาการก็เพิ่มความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร วันนี้เราจึงจะมาหาคำตอบของโรคริดสีดวงทวาร โรคที่เกิดขึ้นแล้วคนมักจะเก็บเป็นความลับไม่ค่อยกล้าบอกใครเพราะรู้สึกอาย

รู้จักกับริดสีดวงทวาร

จริง ๆ แล้ว โรคริดสีดวงทวารมีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว ที่ทวารหนักจะมีเนื้อเยื่อพิเศษที่ทำหน้าที่เป็นเบาะรอง ซึ่งเจ้าเบาะรองที่ว่าจะประกอบด้วยหลอดเลือดและกล้ามเนื้อเรียบมัดเล็ก ๆ ช่วยยึดให้เบาะรองอยู่ในตำแหน่งปกติที่ทวารหนักซึ่งหน้าที่ของเบาะรองนี้ก็คือช่วยในการขยายตัวของทวารหนักเวลาขับถ่ายและช่วยให้รูทวารหนักปิดสนิทในภาวะปกติ

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

สาเหตุอาจเกิดจากเจ้าเบาะรองนั่ง (cushion) ที่ว่านี่เอง เบาะรองตัวนี้ถ้ามีเยอะเกินไปหรือเกิดการเคลื่อนตัวก็จะทำให้เกิดโรค บางคนก็มีเบาะรองเยอะมาตั้งแต่เกิดเลย แต่กลุ่มนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากยกเว้นเรื่องความสวยงาม

กับอีกกลุ่มคือเกิดจากพฤติกรรมการขับถ่าย ได้แก่

  • ท้องผูกเรื้อรัง มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีพฤติกรรมชอบเบ่งอุจจาระอย่างแรง
  • นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน บางคนชอบนั่งอ่านหนังสือหรือเล่นมือถือระหว่างการขับถ่ายไปด้วย ทำให้ความดันในช่องท้องถูกดันมาที่รูทวารและดันจนเกิด ริดสีดวง แม้ว่าจะไม่ได้เบ่งถ่ายอุจจาระใด ๆ ก็ตามก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคได้
  • ท้องเสีย ถ่ายบ่อย ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนของเนื้อเยื่อเบาะรองได้เหมือนกัน ซึ่งเนื้อเยื่อจะเคลื่อนตัวและถูกดันให้ใหญ่ขึ้นจนก่อให้เกิดปัญหาริดสีดวงทวารได้
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ อาจจะเป็นช่วงตั้งครรภ์หรือระหว่างการคลอด โดยเฉพาะช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ก็ส่งผลให้เกิดการยืดขยายตัวของหลอดเลือดในอุ้งเชิงกรานและการกดทับของลำไส้ เนื่องจากมดลูกที่เพิ่มขนาดมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการท้องผูก เมื่ออาการท้องผูกถูกปล่อยไว้นานก็กลายเป็นต้นเหตุของโรคริดสีดวงได้

อาการของโรคริดสีดวงทวาร

ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการ ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดสดๆ อาจจะมากหรือน้อยออกมาตามหลังอุจจาระ มีก้อนหรือติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบๆ ปากทวารหนัก เจ็บปวด บวม บริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาถ่ายอุจจาระ

ริดสีดวงทวาร มีกี่ชนิด

ในทางการแพทย์แบ่งชนิดริดสีดวงทวารออกได้ตามตำแหน่งที่เกิด คือ อยู่ด้านใน ด้านนอก หรืออยู่ตรงกลาง นอกจากนั้นยังมีการแบ่งชนิดริดสีดวงทวารออกตามข้อแทรกซ้อนของโรคด้วย เช่น ริดสีดวงอักเสบ ก้อนเลือดในริดสีดวง เป็นต้น

การวินิจฉัยริดสีดวงทวาร

วิธีการที่แพทย์จะใช้ในการวินิจฉัยมีหลายวิธี เริ่มจากการตรวจทวารหนักด้วยมือหรือการคลำเพื่อแยกโรค เนื่องจากริดสีดวงอาจมีอาการที่คล้ายกับโรคอื่น ๆ การตรวจโดยการส่องกล้อง Proctoscopy หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งจะเลือกวิธีการวินิจฉัยด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการ อายุ ประวัติการบาดเจ็บ และปัจจัยอื่น ๆ ของตัวผู้ป่วย

การรักษาริดสีดวงทวาร จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

การรักษาต้องแยกจากโรคของทวารหนักอื่น ๆ และแยกตามตำแหน่งที่เกิดโรค เพราะแต่ละตำแหน่งมีความแตกต่างด้านกายวิภาค แพทย์จะต้องประเมินก่อนว่าริดสีดวงไปเกิดอยู่ที่ส่วนไหน ด้านในหรือด้านนอก ประเมินระดับความรุนแรงของอาการ จากนั้นจึงกำหนดแนวทางการรักษา

ซึ่งวิธีการก็จะมีตั้งแต่การให้รับประทานยา สอดยา การฉีดยา การรักษาโดยการใช้ยางรัด (คือยิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมา ซึ่งจะช่วยให้หัวริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปได้เอง) ไปจนถึงวิธีการ ผ่าตัดริดสีดวง ซึ่งการผ่าตัดนั้นสามารถแยกออกได้อีกหลายวิธี เช่น

  • การผ่าตัดริดสีดวงแบบดั้งเดิม สามารถใช้ได้กับริดสีดวงทุกประเภท แต่หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บมากกว่าวิธีอื่น
  • การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ จัดว่าเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ไม่มีบาดแผลภายนอก เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นริดสีดวงภายในและมีหลายหัว
  • ผ่าตัดริดสีดวง ด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีที่ได้ผลดี เจ็บน้อย และผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว เหมาะกับริดสีดวงในทุกระยะ
  • การผ่าตัดด้วยวิธี HAL-RAR เป็นการเย็บเส้นเลือดและดึงซ่อนริดสีดวงขึ้นไป

การรักษาริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์

ปัจจุบันมีวิธีการรักษาริดสีดวงด้วยการใช้เลเซอร์ ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ วิธีนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยริดสีดวงทุกระยะ แพทย์จะทำการจี้ทำลายเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงติ่งเนื้อริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงฝ่อและมีขนาดเล็กลง จนกระทั่งค่อย ๆ หายไปเอง หลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ และให้ยาระบาย เพื่อให้อุจจาระที่ถ่ายออกมาไม่แข็ง ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บจากการถ่ายอุจจาระครั้งแรก ข้อดีของการใช้เลเซอร์คือ ใช้เวลาผ่าตัดไม่นานเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยจะไม่มีบาดแผลจากการผ่าตัด เจ็บน้อยมาก ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปกติ

แต่ต้องย้ำตรงนี้ว่า โรคริดสีดวงทวาร แม้จะรักษาได้ก็จริง แต่ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ ทางที่ดีควรแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นก็คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายและการใช้ห้องน้ำ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

โรคริดสีดวงทวาร สามารถลุกลามไปถึงโรคมะเร็งลำไส้ได้หรือไม่

ริดสีดวงทวารจะไม่สามารถลุกลามไปเป็นโรคมะเร็งลำไส้ เพราะจุดเกิดโรคเป็นคนละสาเหตุกัน แต่น่าสงสัยตรงที่ว่า ชื่อโรคก็ไม่เกี่ยวกันแต่ทำไมคนถึงจับมาโยงกันได้

สิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่ตรงที่ว่าคนเป็นมะเร็งลำไส้จะมีอาการเหมือนกับคนที่เป็นริดสีดวง คือมีอาการ ถ่ายเป็นเลือด เหมือนกัน บางคนเมื่อถ่ายเป็นเลือดก็เข้าใจว่าตนเองเป็นโรคริดสีดวงทวาร ก็ไปหาซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งรับประทานไปเท่าไหร่ก็ไม่หาย บางทีอาการอาจหนักขึ้น เพราะรักษาไม่ตรงโรค

บางคนไปพบแพทย์แต่แพทย์อาจจะตรวจไม่ละเอียดคิดว่าเป็นริดสีดวงก็ให้ยามารับประทาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะยิ่งรักษาไม่ตรงโรคนานวันเข้ามะเร็งก็อาจจะลุกลามส่งผลร้ายตามมาได้มากมาย จุดนี้จึงเป็นจุดเชื่อมโยง 2 โรคนี้ โรคไม่เกี่ยวกัน แต่มีอาการแสดงของโรคคล้ายกันจึงทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย ดังนั้นถ้าถ่ายเป็นเลือดสด ๆ สีแดง จะเล็กน้อยหรือมากก็ตาม ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นริดสีดวง แต่ถ้าเลือดที่ออกมามีสีคล้ำ และมีมูกเลือดปนออกมาด้วยให้ระวังโรคมะเร็งลำไส้ แต่ถึงแม้จะตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้

ถ่ายเป็นเลือด อาจไม่ใช่แค่อาการของริดสีดวง

“เมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือด แนะนำว่าอย่านิ่งนอนใจและคิดว่าเป็นแค่โรคริดสีดวงทวาร ซื้อยามารับประทานเดี๋ยวก็หาย หากเป็นแค่นั้นก็ดีไป แต่ถ้าเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อันนี้น่าเป็นห่วง ทางที่ดีเมื่อคุณมีอาการผิดปกติคือถ่ายเป็นเลือด ควรจะเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด จะได้ทำการรักษากันตั้งแต่ต้น ดีกว่าจะปล่อยให้โรคลุกลามจนรักษายาก”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เกี่ยวกับการรักษาริดสีดวง ได้ที่นี่
ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เกี่ยวกับการรักษาริดสีดวง ได้ที่นี่
อีเมล*
อีเมล*

สมิติเวชรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากคุณมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรืออายุ 45+ สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น พร้อมรับสิทธิพิเศษฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย วันนี้ – 30 เมษายน 2566 

  1. Video Call ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านโรคทางเดินอาหาร ทางออนไลน์ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย 
  2. รับสิทธิ์ปรึกษา เกี่ยวกับยีนมะเร็ง การป้องกันโรคมะเร็งในครอบครัว กับที่ปรึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ (Genetic Counselor) ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย 

#มีอาการเท่ากับลุกลาม


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ?

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?