คุยเฟื่องเรื่อง “ถุงยางอนามัย”

คุยเฟื่องเรื่อง “ถุงยางอนามัย”

HIGHLIGHTS:

  • ถุงยางอนามัย มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % หากใช้อย่างถูกวิธี
  • ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ HIV 70-87 % ในกลุ่มชายรักชายและมากกว่า 90 % ในกลุ่มคู่รักชายหญิงนอกจากนั้นยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหนองในแท้และเทียม โรคซิฟิลิส ได้ 50-90%

จากข้อมูลสถิติกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558-2560

พบ อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 นักเรียน ม.5 ที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ใช้ถุงยางมากถึงร้อยละ 75 ในเพศชาย และร้อยละ 77 ในเพศหญิง ส่วนในนักเรียนอาชีวศึกษาชั้น ปวช.ปี 2 ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกร้อยละ 69.5 ในเพศชาย และร้อยละ 74.6 ในเพศหญิง

แม้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การใช้อย่างสม่ำเสมอยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ด้วยเหตุผลคือ ความไว้วางใจในคู่รักที่คบกันมาระยะนึงเลยหยุดใช้ถุงยางอนามัย ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรค เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส หนองในแท้และเทียม หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและทวารหนัก เริมที่อวัยวะเพศและทวารหนัก แผลริมอ่อน เป็นต้น

ถุงยางอนามัยที่เราเห็นวางขายกัน มักพบแต่ถุงยางของผู้ชายเพราะง่ายต่อการใช้และเป็นค่านิยมที่ถูกทิ้งไว้ให้แต่ฝ่ายชายที่ต้องหามาใส่ จึงทำให้ในประเทศไทยไม่ค่อยพบถุงยางของผู้หญิงวางจำหน่ายมากนัก ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางช่องคลอด ทวารหนัก (anal sex) หรือปาก (oral sex)

Q: ถุงยางอนามัยมีกี่ชนิด

A: ปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์ ส่วนชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว

  • ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom) ข้อดีคือ ราคาถูก ยืดหยุ่นได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ การสวมใส่กระชับรัดแนบเนื้อ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการคุมกำเนิดและป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ข้อด้อยคือ ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ เพราะจะทำให้โครงสร้างของน้ำยางเสื่อมลง ส่งผลต่อคุณภาพและการป้องกัน แต่ใช้ได้กับสารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based lubricant)
  • ชนิดที่ทำจาก Polyurethane หรือ Polyisoprene (ถุงยางพลาสติก) โดยแก้ไขข้อด้อยของถุงยางจากน้ำยางธรรมชาติ คือ เหนียวกว่า ทนต่อการฉีกขาด เหมาะสำหรับผู้ที่กลัวแพ้ยางพารา สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ และที่สำคัญคือสามารถทำให้บางได้ถึง 01 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย (feels like not wearing anything) แต่ราคาอาจสูงกว่าแบบน้ำยางพารา

Q: เลือกขนาดถุงยางอนามัยอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเรา (คุณผู้ชาย)

A: ถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับแต่ละคน สามารถสังเกตตัวเองได้เมื่ออวัยวะเพศมีการแข็งตัวเกิดขึ้น โดยทั่วไปจะขยายได้ใหญ่กว่าเดิม 3-5 เท่า การแข็งตัวเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำเป็นลำยาวตลอดองคชาตที่เรียกว่า corpora cavernosa เริ่มเต็มไปด้วยเลือดที่ถูกสูบฉีดมาหล่อเลี้ยง เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ

การเลือกขนาดถุงยางอนามัย ควรเลือกให้พอดี ไม่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ฉีกขาดง่าย หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งขนาดของถุงยางจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ โดยวัดจากเส้นรอบวงองคชาต ไม่ใช่ความยาว เพราะถุงยางอนามัยเกือบทุกยี่ห้อ จะทำความยาวมาเท่า ๆ กัน คือประมาณ 6-7 นิ้วเท่านั้น ใครที่มีอวัยวะเพศที่ยาวกว่านี้ก็อาจไม่สามารถครอบได้หมด ถุงยางอนามัย จะบอกเส้นรอบวงเป็นมิลลิเมตร ดังนี้

  • ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 11-12 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
  • ถุงยางอนามัยขนาด 52 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 12-13 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
  • ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 13-14 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
  • ถุงยางอนามัยขนาด 56 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 14-15 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป)

Q: ถุงยางอนามัยป้องกันอะไรได้บ้าง

A:

  • ช่วยคุมกำเนิด ถุงยางจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % หากใช้อย่างถูกวิธี
  • ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV 70-87 % ในกลุ่มชายรักชายและมากกว่า 90 %ในกลุ่มคู่รักชายหญิง (กลุ่มชายรักชาย ถุงยางอนามัยมีเปอร์เซ็นต์ป้องกันต่ำกว่า เนื่องจากมีการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นหลัก ซึ่งอาจมีการฉีกขาดของทวารหนักระหว่างร่วมเพศ จึงมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV มากกว่าการร่วมเพศแบบปกติของชายหญิง)
  • ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหนองในแท้และเทียม โรคซิฟิลิส ได้ 50-90%

Q: ถุงแตก ควรรีบแยกกันและเปลี่ยนถุงใหม่

A: การแตกของถุงยางอนามัย มีได้หลายสาเหตุ แม้คู่รักบางคู่จะทราบว่าถุงยางแตก บางครั้งก็ยังมีเพศสัมพันธ์กันต่อ (อารมณ์ค้าง) แต่บางครั้งเราก็ไม่อาจทราบได้ อาจด้วยอารมณ์ขณะนั้นที่ไม่ได้ใส่ใจ หรือมีอาการมึนเมาจากแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด

สาเหตุการแตกของถุงยางพบได้หลายแบบดังนี้

  • ในกลุ่มชายรักชาย ที่ใช้ถุงยางชนิดบางมาก (น้อยกว่า 0.03 มิลลิเมตร) มีโอกาสถุงยางฉีกหรือแตกได้ หากร่วมเพศทางทวารหนักที่รุนแรง
  • ขณะใส่ถุงยาง เล็บอาจเผลอไปเกี่ยวจนรั่ว หรือ บางคู่ใช้ปากใส่ถุงยางให้คู่รัก อาจโดนฟันของอีกฝ่าย หรือเหล็กดัดฟันของผู้ที่ใช้ปากใส่ เกี่ยวโดนถุงยางขณะใส่ให้อีกฝ่ายได้
  • ตัดซองถุงยางด้วยกรรไกร ทำให้พลาดไปโดนถุงยางโดยไม่รู้ตัว
  • ใช้สารหล่อลื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น ถุงยางที่ทำจากยางพารา หากใช้สารหล่อลื่นจำพวกปิโตรเลียม หรือน้ำมันจากพืช จะทำให้ความยืดหยุ่นและโครงสร้างของถุงยางเสื่อมลง 90% ดังนั้นหากใช้ถุงยางที่ทำจากยางพารา ควรใช้สารหล่อลื่นพวกมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก หรือสารหล่อลื่นสูตรซิลิโคนแทน หากรู้สึกว่ามีน้ำหล่อลื่นไม่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจสังเกตที่บรรจุภัณฑ์ของสารหล่อลื่น เลือกที่เขียนบอกไว้ว่า “สามารถใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย”
  • ลืมบีบกระเปาะของถุงยางก่อนใส่ ทำให้มีอากาศค้างที่กระเปาะ เมื่อมีการร่วมเพศจึงอาจเกิดการแตกได้
  • ถุงยางแน่นหรือฟิตไป ไม่พอดีกับขนาดองคชาต
  • เก็บถุงยางไว้ในกระเป๋าเงิน หรือกระเป๋ากางเกง แล้วเกิดการนั่ง กดเบียดทับ ถุงยางหมดอายุ หรือถูกเก็บไว้ในที่ร้อน โดนแสงแดดเป็นเวลานาน ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่เย็นและแห้ง

HPV กับโรคที่ไม่ควรมองข้ามในผู้ชาย

เชื้อ human papillomavirus (HPV) เป็นกลุ่มเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 150 สายพันธุ์และสามารถติดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง การติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการและสามารถหายไปได้เอง ในบางรายมีภูมิต้านทานไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดหูดที่ผิวหนัง อวัยวะเพศ คอหอย ทวารหนัก แต่ HPV บางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคอ (จากการใช้ปากกับอวัยวะเพศของฝ่ายตรงข้าม) มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

จากรายงานในวารสาร Journal of Lower Genital Tract Disease ปี ค.ศ. 2011 ให้รายละเอียดว่า 90% ของมะเร็งทวารหนักเกิดจากการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 และ ประมาณ 6 ใน 10 ของมะเร็งองคชาติและ 7 ใน 10 ของมะเร็งในช่องปากและลำคอมีความเกี่ยวกับของกับการติดเชื้อ HPV ด้วยเช่นกัน และกลุ่มที่เสี่ยงมากในการเกิดมะเร็งเหล่านี้คือกลุ่มชายรักชาย (Men who have sex with men)

แม้การใช้ถุงยางอนามัย จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% แต่การฉีดวัคซีน HPV ในเด็กชายและหญิงตั้งแต่อายุ 9 ปี จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่รุนแรงได้ และสามารถฉีดได้ถึงอายุ 26 ปี หากอายุเกินกว่านี้ วัคซีนจะสามารถป้องกันเฉพาะสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่านั้น ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมหากต้องการดูแลตนเองด้วยวัคซีน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?