ต่อสู้มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตอน สัญญาณเตือนภัย

ต่อสู้มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตอน สัญญาณเตือนภัย

มะเร็งลำไส้ใหญ่ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่เลือกเพศและวัย สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังไม่มีความแน่ชัด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครมีความเสี่ยงสูง หรือดูแลรักษาตัวเองอย่างไรให้พ้นภัยเงียบนี้ เราจะมาหาคำตอบกัน

ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยมากขึ้นในคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเองก็พบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นเจ้ามะเร็งวายร้ายแต่ก็ยังอุตส่าห์มีข้อดีเหลืออยู่บ้าง คือ ประมาณเกินร้อยละ 90 ก่อนที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เราจะพบอย่างอื่นก่อน คือ ติ่งเนื้อ polyp ที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเจ้าติ่งเนื้อชนิด adenoma ถือว่าเป็น pre-cancerous lesion กล่าวคือ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ชนิด adenoma จะมีการดำเนินโรคกลายไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งถ้าเราตรวจพบก่อนก็สามารถตัดทิ้ง ก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะกลายไปเป็นมะเร็ง

ดังนั้นทั่วโลกจึงถือกำเนิด เกิดโปรแกรมการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งลำไส้ขึ้นมา โดยดูว่าในลำไส้ใหญ่มีติ่งเนื้อหรือไม่ ถ้ามีก็ตัดทิ้งและนำชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยาก่อนที่จะเป็นมะเร็ง และหากเป็นมะเร็ง ก็จะพบว่าเป็นมะเร็งในระยะต้นๆ ซึ่งรักษาได้หายขาด ทั้งในยุโรปและอเมริกาต่างตระหนักว่าการทำแบบนี้มีความคุ้มค่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงแนะนำให้คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นสแตนดาร์ดที่คนทั่วโลกทำเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

จะส่องกล้องต้องรอให้ 50 ก่อนเหรอ?

ถ้าสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นเสริมก็ต้องบอกว่าใช่ แต่ถ้าคนที่มีปัจจัยอื่นๆ อย่างคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะร่างกายดื้อต่ออินซูลิน คือ ในร่างกายมีอินซูลินสูงกว่าคนทั่วไปซึ่งอินซูลินถือเป็น Growth Factor ตัวหนึ่งที่ไปช่วยกระตุ้นการโตของเนื้อเยื่อและเซลล์ ส่งผลเร่งให้มีติ่งเนื้อที่โตเร็วและมีการพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้เร็วขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จึงมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากและเร็วกว่าคนที่ไม่เป็น

กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนที่มีไขมันคั่งสะสมในตับ คือ ภาวะที่มีไขมันไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ ที่ไม่ใช่มาจากการดื่มสุราเรียกว่า Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) ในคนกลุ่มนี้จะอายุสั้นกว่าคนทั่วไป 1.6-1.8 เท่า และมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ แต่ตามสถิติมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโรคตับ แล้วอีก 86% ที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาจากไหน ปรากฏว่าอันดับหนึ่งคือโรคหัวใจ อันดับ 2 คือ โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ซึ่งทั้งไขมันคั่งสะสมในตับ โรคไขมันในเลือดสูง อ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานชนิดที่ 2 มีความสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลินทั้งสิ้น เรียกว่า Metabolic Syndrome

ในต่างประเทศมีการทำวิจัย โดยนำคนไข้ 1,200 กว่าคน มาทำการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง โดยแบ่งเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีไขมันคั่งสะสมในตับ และไม่มี ผลปรากฏว่าทั้งชายและหญิง ที่มีไขมันคั่งสะสมในตับมีโอกาสเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ชนิด Adenoma ซึ่งจัดว่าเป็น pre-cancerous lesion ได้มากกว่าคนที่ไม่มีไขมันคั่งสะสมในตับ จึงยืนยันได้ว่ากลไกเหล่านี้เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าตรวจสุขภาพแล้วผลออกมาว่ามีไขมันคั่งสะสมในตับ หรือเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะดื้ออินซูลินด้วยแล้ว กลุ่มคนพวกนี้ควรจะต้องทำการส่องกล้องเพื่อดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย ถ้าส่องกล้องแล้วไม่พบติ่งเนื้อก็สามารถอยู่ไปได้อีก 5-10 ปี แล้วค่อยมาทำการส่องกล้องใหม่ แต่ถ้ามีติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร คุณหมอก็อาจจะแนะนำให้ทำทุก 3-5 ปี ถ้าติ่งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร อาจจะให้ทำทุก 1-3 ปี และสำหรับคนที่มีภาวะดื้ออินซูลินก็อาจจะต้องทำถี่ขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายและปัจจัยการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ของแต่ละคน

สำหรับคนไข้ที่มาพบแพทย์ด้วยภาวะที่เป็นไขมันคั่งสะสมในตับ ก็จะแนะนำให้ไปส่องกล้องเพื่อดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย ซึ่งคนไข้อาจจะสงสัยว่าเป็นหมอตับ จะให้ไปส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทำไม ก็เพราะเวลาที่เราเจอเรื่องหนึ่ง ก็อาจมีอีกเรื่องตามมาด้วย เหรียญยังมี 2 ด้านเลย ร่างกายคนเราก็มีการเกิดโรคได้หลายโรค หลายอาการ แพทย์ต้องดูแลคนไข้แบบองค์รวม ถ้าเราไม่เชี่ยวชาญเราก็ส่งต่อไปให้แพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ เพราะฉะนั้นถึงแม้คนไข้ที่มีอายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป ถ้าตรวจพบไขมันคั่งสะสมในตับเมื่อไหร่ก็จะแนะนำให้ไปส่องกล้องลำไส้ใหญ่ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันและห่างไกลจากมะเร็งลำไส้ใหญ่

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนเราคือการมีสุขภาพที่ดี แต่การมีสุขภาพที่ดีไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ อยู่ที่การดูแล ป้องกัน และการมีวินัยในการปฏิบัติตนให้มีสุขภาพที่ดีรวมทั้ง การออกกำลังกาย การกินที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ควรกินอาหารที่มีกากใยจะได้ไม่ ท้องผูก การกินอาหารที่ไม่มันมาก จำกัดอาหารพวกแป้งและนํ้าตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฟรุกโตสสูงและในเมื่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่มีการเฝ้าระวังได้ จึงอยากแนะนำให้คนที่มีอายุ เกิน 50 ปีขึ้นไปทุกคนส่องกล้องเฝ้าระวัง หรือถ้าคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ปวดท้อง ถ่ายผิดปกติ มีไขมันคั่งสะสมในตับ โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ก็ควรส่องกล้องถึงแม้ว่ามีอายุไม่ถึง 50 ปี แล้วการส่องกล้องไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ? คลิกอ่านเพิ่มเติม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?