การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

HIGHLIGHTS:

  • การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา และป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้
  • การทดสอบในโรคภูมิแพ้มีมากมายหลายวิธี แต่การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลรวดเร็ว มีความแม่นยำ และอันตรายน้อยมาก ที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีอื่นๆ มากเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นั้นต้องอาศัยทั้งประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกายมาประกอบกันเพื่อวินิจฉัยได้ตรงโรคที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยแยกโรคที่อาจไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ แต่เป็นโรคทางกายอื่นๆ ได้อีกด้วย ในบางครั้ง ประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน ต้องอาศัยผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และการทดสอบพิเศษสำหรับโรคภูมิแพ้โดยตรง เช่น

  1. ตรวจภูมิแพ้ ด้วยวิธีการทดสอบทางผิวหนัง มีหลายวิธี เช่น การสะกิดผิวหนัง การฉีดยาเข้าในชั้นผิวหนัง การแปะสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง
  2. การเจาะเลือดเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ ชนิด Immunoglobulin E (IgE)
  3. บางโรคต้องอาศัยการทดสอบกับสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยแต่ละรายโดยตรง เช่น ผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้หลังรับประทานอาหาร การให้รับประทานอาหารที่คิดว่าแพ้ทีละน้อยอย่างเป็นขั้นตอนจะเป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard) ในการวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick Test) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลรวดเร็ว แม่นยำ อันตรายน้อย และที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีอื่นๆ มาก

การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick Test) คืออะไร

คือ การหยดน้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น เกสรหญ้า เชื้อรา นมวัว ไข่ หรืออาหารทะเล ลงไปบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการทดสอบ เพื่อดูว่าแพ้สารใด หากเกิดอาการแพ้จะมีตุ่มนูนแดงและเกิดอาการคันขึ้น

ประโยชน์ของการตรวจภูมิแพ้ ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง

  • เพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ร่วมกับอาการทางคลินิก
  • เพื่อใช้ศึกษาทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคภูมิแพ้ในประชากรกลุ่มต่างๆ
  • เพื่อใช้ในการติดตามผลของการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิดเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่เป็นภูมิแพ้  หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก
  • สามารถทำได้ในทุกเพศทุกวัย  แต่ผลการทดสอบจะแม่นยำมากในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป 
  • กรณีทดสอบในผู้สูงอายุ อาจพบผลลบลวงได้มาก เพราะความไวของผิวหนังน้อยลง นอกจากนี้อาจมีโรคประจำตัว หรือยาที่รับประทานเป็นประจำ ซึ่งรบกวนการเกิดปฏิกิริยาของผิวหนังต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ดังนั้น อาจต้องใช้การเจาะเลือดร่วมพิจารณาด้วย

ประเภทของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบ่งเป็น 2 ประเภท แตกต่างกันไปตามแหล่งของสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่

  1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร ที่เกิดจากอาหารซึ่งอยู่ในอาหารไทย/ต่างชาติที่รับประทานกันเป็นประจำ เช่น นมวัว ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วลิสง แป้งสาลี แป้งข้างโพด แป้งถั่วเหลือง ช๊อคโกแลต กีวี เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ และอาหารทะเลหลากหลายชนิด เป็นต้น
  2. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ ที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ขนสุนัข ขนเป็ด ขนนก มดคันไฟ ยุง เกสรหญ้า และเชื้อรา 3 สายพันธุ์ เป็นต้น  

วิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด?

เริ่มโดยการทำความสะอาดผิวหนังที่จะทดสอบ (ท้องแขน/ หลัง) แล้วหยดน้ำยาซึ่งสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ลงไป จากนั้นใช้ปลายเข็มที่ Sterile สะกิดเบาๆ ที่ชั้นหนังกำพร้า  แล้วรอผลเพียง 15-20 นาที หากผู้ป่วยแพ้สารใด ผิวหนังตรงตำแหน่งที่หยดสารทดสอบนั้นๆ จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดงขึ้นมา

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด

การเตรียมตัวที่ดีของผู้ป่วยเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการทดสอบที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ดังนั้น ก่อนการทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด ควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกทุกครั้ง เนื่องจากมีขั้นตอนในการเตรียมตัวและปัจจัยรบกวนผลในการทดสอบหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดผลบวกลวง หรือผลลบลวงได้ทั้ง 2 กรณี  ทั้งนี้ การเตรียมตัวก่อนการทดสอบควรปฏิบัติดังนี้

  1. งดยาทุกชนิดโดยเฉพาะยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาลดความซึมเศร้าบางประเภท ยาแก้หวัดบรรจุเสร็จ วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร ยาหยอดตาแก้แพ้ อย่างน้อย 7 วันก่อนการทดสอบ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่ต้องใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาเบาหวาน ยาโรคหัวใจ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาพ่นสเตอรอยด์ทางปาก-จมูกในโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด อาจพิจารณาใช้ได้ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิก หรือแพทย์ที่จะทำการทดสอบก่อนเสมอ
  2. ไม่ควรทาโลชั่นบำรุงผิวบริเวณแขนทั้ง 2 ข้างในวันที่จะทำการทดสอบ เพราะจะทำให้น้ำยาทดสอบไม่เกาะติดที่ผิวหนัง และเสียเวลาในการล้างออกก่อนทำ
  3. ควรงดยาทาผิวหนังประเภทสเตียรอยด์ก่อนเช่นกัน เนื่องจากหากทายามาเป็นระยะเวลานาน อาจรบกวนปฏิกิริยาของการทดสอบ ส่งผลถึงความแม่นยำของการทดสอบได้
  4. ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ

ใครที่ไม่ควรตรวจภูมิแพ้ ด้วยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด

ไม่แนะนำให้ทำการทดสอบด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบทั่วตัว ในเด็กเล็กมากๆ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีผิวหนังอ่อนบางจนเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายกว่าปกติ

หากไม่เคยมีอาการแพ้ จำเป็นต้องทดสอบหรือไม่?

คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมาก เบื้องต้นต้องกล่าวก่อนว่า การป้องกันทางภูมิแพ้มีหลายระดับ ตั้งแต่การป้องกันปฐมภูมิแบบหนึ่ง (Primary Prevention) นับเป็นการป้องกันสารก่อภูมิแพ้เข้ามากระตุ้น หรือ Sensitise ตั้งแต่เด็ก การป้องกันทุติยภูมิ (Secondary Prevention) คือ หากมีสารก่อภูมิแพ้เข้ามากระตุ้นแล้วต้องป้องกัน หรือยืดเวลาที่เกิดอาการ และสุดท้าย การป้องกันแบบตติยภูมิ (Tertiary Prevention) คือ เมื่อเกิดอาการหรือเป็นโรคภูมิแพ้แล้วต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้น

การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด เพื่อดูว่าเกิด sensitization หรือการระคายเคือง จากสารก่อภูมิแพ้หรือยัง ถือเป็นการป้องกันแบบทุติยภูมิ (Secondary Prevention) ในผู้ป่วยที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น ในมารดา หรือบิดา/มารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคู่ เป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก มีลักษณะของการแพ้ที่เรียกว่า Atopic เช่น มีผื่นคันเรื้อรังตั้งแต่เล็ก มีภูมิแพ้ทางจมูก มีอาการป่วยด้วยโรคหืดตั้งแต่เด็ก ฯลฯ ส่วนการทดสอบในผู้ที่มีอาการบ่อยๆ และสงสัยจะเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ก็ถือเป็นการป้องกันระดับตติยภูมิ (Tertiary Prevention) ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อให้รู้ถึงสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ซึ่งจะเป็นการลดอาการ และลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด

กล่าวโดยสรุปแล้ว การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สามารถป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้ได้ ส่งผลให้อาการแพ้ดีขึ้นกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ หากต้องการเข้ารับการทดสอบว่าตนเองมีอาการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นใดๆ หรือไม่ แนะนำว่าควรเข้ารับการทดสอบในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์เฉพาะทางทดสอบ อ่านผลและให้การรักษา เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการทดสอบ และได้ผลการทดสอบที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?