การให้นมลูก… เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

การให้นมลูก… เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

ทำไมคุณแม่จึงควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นับเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ หลายๆ ประเทศยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อโครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกด้วย ประโยชน์ต่อสุขภาพมีมากมาย เช่น การลดความเสี่ยงที่ทารกจะมีการติดเชื้อในหูและปอด หรือเป็นโรคหืด ผื่นผิวหนังอักเสบ โรคเบาหวาน การเสียชีวิตเฉียบพลันในทารก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ยิ่งไปกว่านั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่มีค่าใช้จ่าย น้ำนมมีอุณหภูมิที่กำลังดี และช่วยให้คุณแม่ลดน้ำหนักหลังคลอดได้ดีอีกด้วย

สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกันแนะนำว่า คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นจึงค่อยให้อาหารเสริมไปพร้อมกับให้นมแม่จนทารกอายุ 1 ขวบหรือแล้วแต่ความสะดวกและความพร้อมของแม่และเด็ก

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย

เราแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และคุณแม่หลายล้านคนทั่วโลกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานเป็นปีๆ อย่างไรก็ดีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใช่ว่าจะง่ายเสมอไป เราอาจจะเห็นภาพลูกน้อยมีความสุขเวลาดูดนมจากอกแม่ และแม่จะยิ้มอย่างมีความสุข แต่ก็มีอีกหลายบ้านที่คุณแม่ต้องหลั่งน้ำตาเพราะความยากลำบากในการให้นมลูก ซึ่งเรื่องนี้ก็โทษใครไม่ได้และไม่จำเป็นต้องหาจำเลยด้วย ปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ไม่ใช่เพราะลูกอารมณ์ไม่ดี หรือแม่ทำไม่ถูก เพียงแต่ว่าคุณแม่อาจต้องการคำแนะนำหรือช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถให้นมลูกได้

ปัญหาที่พบบ่อย

  1. การเอาลูกเข้าเต้า
    ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการให้นมลูกคือการเอาลูกเข้าเต้า ถ้าไม่ถูกต้องแม่จะเจ็บหัวนมได้ หรืออาจถึงขั้นหัวนมแตกและมีเลือดไหลได้ ทารกจำนวนมากไม่สามารถอมหัวนมไปจนถึงลานนม ซึ่งควรต้องมาประเมินดูว่าลิ้นของทารกเป็นอย่างไรและไม่มีปัญหาเรื่องมีพังผืดยึดใต้ลิ้นทำให้ไม่สามารถยืดหรือบังคับลิ้นได้อย่างเหมาะสม ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี ถ้าลูกไม่มีปัญหานี้ เราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเอาลูกเข้าเต้าได้อย่างถูกต้อง เช่น ท่าทางการอุ้มลูกในการให้นม หรือระยะเวลาในการเอาหัวนมเข้าปากลูก นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังสามารถให้คำแนะนำด้วยว่าต้องดูแลหัวนมอย่างไรเพื่อให้ไม่เกิดปัญหา ไม่เจ็บ ไม่แตก เช่น การทาน้ำนมลงบนหัวนม ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง และทาลาโนลินรอบๆ
  2. ทารกได้รับน้ำนมพอหรือไม่
    คุณแม่จำนวนมากรู้สึกว่ามีน้ำนมน้อยเกินไป ผู้เชี่ยวชาญอาจให้ความรู้ที่ถูกต้อง กำหนดตารางการให้นมทารกที่เหมาะกับอายุ และแนะนำว่าควรปล่อยให้ลูกดูดนมจากเต้าข้างละกี่นาที รวมทั้งติดตามดูน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเพื่อดูว่าทารกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอหรือไม่
  3. หัวนมแม่กับจุกขวดนม
    การใช้จุกหลอกกับขวดนมในสัปดาห์แรกๆ ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจส่งผลได้ทั้งสองทาง ทั้งการที่ทารกรับได้ (แม้ว่าทารกหลายคนจะมีความสุขดีกับจุกทุกชนิด) และรับไม่ได้ (ทารกปฏิเสธที่จะดูดจากจุกหลอกหรือขวด หรือชอบจุกหลอกและขวดมากกว่า) กรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่า สัญญาณที่บอกว่าลูกเกิดความสับสนมีอะไรบ้าง และคุณแม่ควรงดใช้จุกหลอกหรือขวดนมทันที ซึ่งทำให้คุณแม่มองเห็นทางออกและเข้าใจปฏิกิริยาของลูก ก่อนตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุด
  4. เต้านมอักเสบและเชื้อราในปาก
    เต้านมอักเสบเป็นการติดเชื้อและทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน คุณแม่จะรู้สึกเจ็บ เต้านมบวม แดง นอกจากนี้ อาจมีไข้ หรืออาการเหมือนไข้หวัด หากมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์และอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำว่าควรดูแลเต้านมอย่างไร และจะให้นมลูกอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ส่วนเชื้อราในปากอาจมีผลต่อทั้งทารกและพาหัวนมแม่ติดเชื้อไปด้วย ในปากของทารกจะเห็นเป็นฝ้าขาวไม่สามารถเช็ดออกได้ ส่วนหัวนมแม่จะมีอาการเจ็บ แดง คัน และแตก หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ และต้องได้รับครีมทาฆ่าเชื้อราเช่น ยา Nystatin ที่ปลอดภัยสามารถใช้ได้ในแม่และเด็ก
  5. โคลิก
    บางครั้งแม่ให้นมลูกเองไปตามปกติ แต่ทารกจะร้องไม่หยุดเนื่องจากเป็นโคลิกหรือที่เรียกว่าร้องสามเดือน ซึ่งมักพบมากถึงร้อยละ 20 ในทารกทั่วไป ไม่มีใครทราบว่าสาเหตุของโคลิกเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าการสะสมแก๊สในท้องทำให้เด็กปวดท้อง มักพบเมื่อทารกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ และพบมากที่สุดตอนอายุ 6 สัปดาห์ อาการจะค่อยๆ ทุเลาลงเมื่อทารกอายุ 3-4 เดือนและหมดไปเมื่ออายุ 5-6 เดือน ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่คุณพ่อต้องเผชิญกับศึกหนัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักมีคำแนะนำที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยให้ลูกน้อยบรรเทาอาการได้ด้วยการนวด การอุ้มในท่าที่ถูกต้อง หรือการหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?