การส่องกล้องท่อน้ำดี ERCP และการตรวจรักษานิ่วในทางเดินน้ำดี

การส่องกล้องท่อน้ำดี ERCP และการตรวจรักษานิ่วในทางเดินน้ำดี

การเกิดนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งนิ่วนั้นมักจะเกิดที่ถุงน้ำดีก่อน หากไม่ได้รับการรักษาก่อนหรือปล่อยนานไป ก้อนนิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีนั้นก็จะตกลงไปสู่ท่อน้ำดี ทำให้เกิดเป็นนิ่วในท่อน้ำดี ขึ้นมา หากอาการลุกลามมาถึงท่อน้ำดีแล้วจะมีอาการอย่างไร และจะทำการรักษาได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการรักษาด้วยวิธี ERCP คือ การส่องกล้องท่อน้ำดี เป็นอย่างไร เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันในบทความนี้

เมื่อนิ่วตกสู่ท่อน้ำดี คนไข้จะมีอาการอย่างไร

อาการของคนไข้ในช่วงแรกคนไข้จะมีอาการปวดท้อง อาจปวดเป็นพักๆ หรือบางทีก็ปวดต่อเนื่อง

  • อาการปวดจะมากขึ้นและรู้สึกร้าวไปถึงด้านหลัง โดยอาจมีอาการร่วมคือคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก ใจสั่น คือมีอาการแบบเดียวกันกับคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
  • ถ้าก้อนนิ่วได้ตกไปสู่ท่อน้ำดีแล้วก็จะทำให้ท่อน้ำดีส่วนปลายเกิดการอุดตัน ทำให้คนไข้เกิดอาการตาเหลืองตัวเหลือง มีไข้ และมีปัสสาวะสีเข้มร่วมด้วย เสี่ยงกับการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงในท่อน้ำดี ซึ่งจะส่งผลเสียถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษานิ่วในท่อน้ำดีทำได้อย่างไรบ้าง

หากมีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดีเราใช้การตรวจโดย Ultrasound ก็สามารถตรวจพบได้ แต่ถ้านิ่วตกลงไปที่ท่อน้ำดีแล้วการใช้วิธี Ultrasound อาจไม่ใช่คำตอบที่ตรงนัก เพราะในกรณีนี้ Ultrasound จะตรวจไม่ค่อยพบ ถ้าคิดแล้วก็น้อยกว่า 50 % เลยทีเดียว เมื่อเป็นดังนี้เราจึงต้องใช้การตรวจที่ละเอียดขึ้นโดยการใช้ CT Scan หรือทำ MRCP เพื่อให้แน่ใจมากยิ่งขึ้น

ถ้าในส่วนนี้มีการตรวจพบนิ่วในท่อน้ำดี เราก็จะทำการรักษาโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า ERCP คือ การส่องกล้องท่อน้ำดี หรือการใช้กล้องส่องเข้าไปทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นจนถึงตำแหน่งที่ท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก แล้วฉีดสารทึบแสงและถ่ายภาพเอกซเรย์ วิธีการนี้นับเป็นหัตถการที่จำเป็นที่จะช่วยในการวินิจฉัยและรักษานิ่วในท่อน้ำดี การส่องกล้องท่อน้ำดี หรือ ERCP จะช่วยให้เราพบสาเหตุการอุดตันของท่อน้ำดีได้ว่ามาจากนิ่วหรือจากสาเหตุอื่นๆ หากเป็นสาเหตุที่นิ่ววิธีนี้ก็จะช่วยให้เราสามารถลากก้อนนิ่วออกจากท่อน้ำดีได้ โดยแพทย์อาจต้องตัดรูเปิดท่อน้ำดีให้กว้าง เพื่อให้สามารถดึงนิ่วที่ค้างอยู่ให้หลุดออกมา และนอกจากนั้นยังทำให้เราสามารถขูดเอาเซลล์ของท่อน้ำดีมาตรวจเพื่อการวินิจฉัยเรื่องอื่นๆ ได้อีกด้วย

การทำ ERCP มีข้อจำกัดอะไรหรือไม่

ในสมัยก่อนนั้นถ้าเราพบว่าคนไข้มีอาการคล้ายกับผู้ที่มีอาการนิ่วในท่อน้ำดี คือ มีตาเหลือง ตัวเหลือง มีไข้ มีอาการปวดท้อง เราจะสงสัยไว้ก่อนเลยว่า น่าจะมีก้อนนิ่วตกลงไปในท่อน้ำดี ซึ่งในยุคนั้นเมื่อเราสงสัยเราก็จะทำ ERCP เลย เนื่องด้วยอวัยวะตรงบริเวณทางเดินน้ำดีนั้นเล็กมาก การตรวจจะทำได้ยากจึงมีข้อจำกัดในการตรวจมากทีเดียว เราจึงจำเป็นต้องตัดสินใจทำ ERCP ไปก่อนเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไปอีก แต่ต้องยอมรับว่าอาจเป็นการทำหัตถการที่ไม่จำเป็น แม้ว่าการตรวจประเมิน วินิจฉัย และรักษาด้วยวิธีการ ERCP จะเป็นวิธีการที่ดีก็จริง แต่ก็เป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดการบาดเจ็บต่อทางเดินน้ำดีได้มากทีเดียวโดยเฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ 2 – 15%

ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น แพทย์ในปัจจุบันจึงมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากเราแค่สงสัยว่าคนไข้อาจมี นิ่วในท่อน้ำดี เราจะยังไม่ทำ ERCP ทันที แต่เราจะทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจที่สุดก่อนว่าคนไข้มีนิ่วในท่อน้ำดีอยู่จริง เราถึงจะลงมือทำ ERCP คือ ตรวจไล่ไปตามลำดับตั้งแต่ Ultrasound เจาะเลือด CT Scan หรือ MRCP ซึ่งถ้าตรวจไล่ระดับมาเรื่อยๆ ผลที่ออกมาก็ให้ความแม่นยำได้ถึง 75 – 85% สูงสุดก็น่าจะอยู่ที่ 90% ซึ่งที่ไม่สามารถรู้ผลได้ชัดถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เพราะอวัยวะบริเวณนั้นเล็กยากต่อการเข้าถึง ตรงนี้จึงเป็นข้อจำกัดของการตรวจนิ่วในท่อน้ำดี แต่ถ้าเราตรวจด้วยวิธีการทั้งหมดแล้ว เราก็ยังไม่พบ แต่คนไข้ก็แสดงอาการคล้ายกับคนที่มีนิ่วในท่อน้ำดีอยู่

การตรวจด้วยวิธี Ultrasound หลังจากการทำ ERCP

ลำดับถัดไปเราก็จะทำการตรวจโดยวิธีส่องกล้อง Ultrasound (Endoscopic Ultrasound : EUS) ซึ่งเป็นการสอดกล้องเข้าไปทางปากลงไปในกระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งติดกับตำแหน่งของท่อน้ำดี แล้วทำการตรวจด้วย Ultrasound จากภายใน ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เราสามารถตรวจนิ่วในท่อน้ำดีได้แม่นยำมากขึ้นเกือบ 100% เพิ่มความมั่นใจก่อนที่เราจะลงมือทำ ERCP โดยส่วนตัวแล้วหมอเคยได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ คือนำคนไข้ที่เราสงสัยว่าจะมีนิ่วในท่อน้ำดีมาแบ่งกลุ่ม โดยหมอดึงกลุ่มที่เราสงสัยว่าน่าจะมีโอกาสเกิดนิ่วในท่อน้ำดี ที่ค่อนข้างชัดเจนออกมา แล้วก็มาตรวจด้วยวิธีส่องกล้อง Ultrasound ก่อน ซึ่งหมอพบว่ากลุ่มที่เรามั่นใจว่ามีนิ่วในท่อน้ำดีหลังตรวจด้วยวิธีส่องกล้อง Ultrasound กลับพบว่าไม่ได้มีนิ่วในท่อน้ำดีกันทุกคน คิดตัวเลขออกมาจากกลุ่มที่ทำการศึกษาเราพบว่ามีแค่ 40 – 60% เท่านั้นที่เราพบนิ่วในท่อน้ำดี คือเป็นไปได้ว่าคนไข้บางส่วนจากกลุ่มนั้นก้อนนิ่วอาจจะหลุดไปแล้ว แต่ปากทางท่อน้ำดียังมีการบวมอยู่ อาการจึงแสดงออกคล้ายๆ กับคนที่มีนิ่วอยู่ จะเห็นได้ว่าถ้าเราทำ ERCP ไปเลยโดยที่ไม่ทำการตรวจให้มั่นใจจริงๆ คนไข้ก็จะต้องเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บและอาการแทรกซ้อนอื่นๆ จากการทำ ERCP โดยไม่จำเป็น

จะเห็นได้ว่า การรักษานิ่วในทางเดินน้ำดีนั้นมีความซับซ้อนและความยากอยู่ในตัวเองพอสมควร ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายของมนุษย์เราเอง ดังนั้นหมอขอแนะนำว่าถ้าคุณเริ่มมีอาการปวดท้องมากๆ อาการปวดเริ่มลุกลามมากไปจนถึงปวดร้าวไปด้านหลัง ก็อย่านิ่งนอนใจ รีบมาพบแพทย์โดยด่วนจะดีที่สุด หากคุณเป็นนิ่วในถุงน้ำดีก็จะได้แก้ปัญหาไปตั้งแต่ต้นก่อนที่ก้อนนิ่วจะตกลงสู่ท่อน้ำดี ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นแล้วการรักษาก็จะยากขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อคุณนั่นเอง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?