สมิติเวชร่วมมือทางการแพทย์กับโรงพยาบาลทากัตสึกิ

สมิติเวชร่วมมือทางการแพทย์กับโรงพยาบาลทากัตสึกิ

ยกระดับบริการทางการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็ก

สมิติเวช โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินหน้ายกระดับความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อความร่วมมือทางการแพทย์กับโรงพยาบาลทากัตสึกิ (Takatsuki General Hospital) แห่งญี่ปุ่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกุมารเวชและห้องอภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ในการพัฒนาความรู้ผ่านการเรียน การวิจัย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเพิ่มพูนความสามารถของสมิติเวชในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยเด็ก

พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลทากัตสึกิต่างก็ให้ความสำคัญต่อการให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยและตระหนักดีว่าการมีบุคลากรที่มีความสามารถและศักยภาพสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเป็นเลิศในด้านนี้ ด้วยวิสัยทัศน์เดียวกันทำให้เราริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองโรงพยาบาลใน 3 ด้าน ได้แก่ การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบุคลากร การทำวิจัย และการจัดสัมมนา เราเชื่อว่าการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญมากที่จะทำให้เกิดความเป็นเลิศในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยให้เราสนับสนุนและช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดี รวมทั้งมีความรู้ใหม่ๆ ที่จะยกระดับความเป็นเลิศทางการแพทยได้ดียิ่งขึ้น”

นพ. โยชิยูกิ นาอิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Aijinkai Healthcare Corporation และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทากัตสึกิ กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้ร่วมงานกับสมิติเวชในการพัฒนาความรู้และความชำนาญของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งกันและกัน พร้อมกับให้การดูแลผู้ป่วยรวมถึงครอบครัวให้มีสุขภาพดี จากความร่วมมือในครั้งนี้จะดำเนินการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยเด็ก รวมถึงทารกแรกเกิดเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาเด็ก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากๆ และโรคภูมิแพ้ในเด็ก นอกจากนั้นยังเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการดูแลรักษาผู้ป่วยญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย

ปัจจจุบัน ชาวญี่ปุ่นเป็นลูกค้าต่างประเทศอันดับหนึ่งที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลสมิติเวช โดยในแต่ละปีมีจำนวนชาวญี่ปุ่นที่มาใช้บริการมากถึง 140,000 คน หรือเฉลี่ย 400 คนต่อวัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยเด็กที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ยังเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเด็กที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สมิติเวชจึงได้เปิดศูนย์ Japanese Medical Center (JMC) เพื่อให้บริการ อำนวยความสะดวก สำหรับผู้รับบริการชาวญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2556 และกำลังขยาย แผนกผู้ป่วยนอกเด็กที่ รพ. เด็กสมิติเวช สาขาสุขุมวิทรวมทั้งหอบริการทารกแรกเกิดวิกฤติ เพื่อรองรับและบริการผู้ป่วยเด็กที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสมิติเวชเป็นโรงพยาบาลอันดับ 1 นอกประเทศญี่ปุ่นที่ให้บริการผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นมากที่สุด ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลทากัตสึกิได้รับรองเป็น Baby-Friendly Hospital โดย WHO และUNICEF

สมิติเวชได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งในญี่ปุ่น ตามแผนที่จะยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการร่วมมือกับหลายโรงพยาบาลชั้นนำ อาทิ Sapporo Medical University Hospital, NTT Medical Center Tokyo, New Tokyo Hospital, Chikamori Hospital และ Sano Hospital รวมทั้งยังเคยส่งแพทย์และพยาบาลของสมิติเวชไปรับการอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลในต่างประเทศนั้นมีความครอบคลุมโรคเฉพาะทางหลากหลายด้าน ทั้งกุมารเวชและการผ่าตัดส่องกล้องร่วมกับการผ่าตัดโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลสมิติเวช

โรงพยาบาลสมิติเวช ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2522 ปัจจุบันเป็นหนึ่งใน 43 ของโรงพยาบาลในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ชั้นนำในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้บริการด้วยมาตรฐานด้านการแพทย์ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพทั้งในประเทศไทย และมาตรฐานสากลจาก Joint Commission International หรือ JCI ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 6 แห่งได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท, โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์, โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา, โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี, โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี และโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลทากัตสึกิ

โรงพยาบาลทากัตสึกิ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2520 เป็นโรงพยาบาลขนาด 477 เตียง เป็นหนึ่งในกลุ่ม รพ. Aijinkai Healthcare Corporation ซึ่งเป็น รพ. ที่มีชื่อเสียงมากในแขตคันไซและทั่วประเทศญี่ปุ่นด้านกุมารเวชและการดูแลหออภิบาลผู้ป่วยเด็กแรกเกิด ทากัตสึกิเป็นโรงพยาบาลหลักในเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ด้านกุมารเวชสำหรับเด็กแรกเกิดในโอซากา(Osaka Neonatal Mutual Cooperative System) โดยดูแลผู้ป่วยเด็กแรกเกิดและรับผู้ป่วยเด็กแรกเกิดที่ส่งตัวมาจากสถาบันการแพทย์ทางตอนเหนือของโอซากาและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการรักษาเด็กที่คลอดก่อนกำหนดโดยมีอายุครรภ์ประมาณ24 สัปดาห์กับ 5 วัน และมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำเพียง 286 กรัม ซึ่งในปัจจุบัน เด็กรายนี้มีอายุ 4 ปี และมีสุขภาพสมบูรณ์

คะแนนบทความ