คลินิกไอเรื้อรัง

2nd FL Daily (7 days/week) - 07:00 - 20:00 66 (0) 2378-9110-1 info@samitivej.co.th

อาการไอเรื้อรัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการติดเชื้อหรืออาจเกิดจากที่เป็นโรคทางเดินหายใจ และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษต่างๆ สามารถทำให้มีอาการได้ทั้งไอแห้ง ไอเสียงก้อง มีเสมหะ 

เด็กกับอาการไอเรื้อรัง ส่งผลให้รบกวนชีวิตประจำวัน  และคนรอบข้าง 

อาการ ไอติดต่อกันยาวทั้งวัน นอนก็ยังไอ ระหว่างนอนหลับก็ไอ ตื่นมาก็ไม่สดชื่น ไปเรียนในห้องเรียนก็ไอ ไม่มีสมาธิในการเรียน  เล่นกีฬาก็ไอ เหนื่อยง่าย ทำไม่ได้เต็มที่ สร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่าจะส่งผลต่อสติปัญญา พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็ก  สร้างความกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้เพื่อนในห้องได้จากการไอ  ทำให้การไอเรื้อรังเป็นสาเหตุที่ผู้ปกครองจะพาบุตรหลานมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลมากที่สุด 

ลักษณะของอาการไอเรื้อรัง

สาเหตุของอาการไอเรื้อรังสามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะใหญ่ๆ คือ

  1. เกิดจากการติดเชื้อโรค สามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนใกล้ชิดได้ เช่น ติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค ทางจมูก หลอดลม โพรงไซนัส ปอด ทำให้เกิดอาการไอขึ้นมา 
  2. อาการไอเรื้อรังที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น เด็กเป็นภูมิแพ้โพรงจมูก  โรคหืด กรดไหลย้อน  มีแปลกปลอมค้างอยู่ในทางเดินหายใจ โรคหัวใจบางชนิด หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยา รวมไปถึงหลอดลมไวต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น ควันบุหรี่ ควันต่างๆ สารเคมี  และยังเกิดได้จากปัจจัยอีกหลายอย่าง โดยลักษณะอาการไอสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ทั้ง ไอแห้งๆ  ไอก้องๆ และไอแบบมีเสมหะ 

การตรวจวินิจฉัยโรคไอเรื้อรัง 

การตรวจอาการไอเรื้อรังจำเป็นอย่างยิ่ง พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างละเอียด แจ้งให้แพทย์ทราบ ว่าลูกเริ่มไอตั้งแต่เมื่อไหร่ อาการไอนี้เกิดขึ้นนานแค่ไหนแล้ว ไอแบบแห้งหรือไอเปียก ช่วงเวลาสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการไอ และแพทย์จะถามประวัติว่าเด็กมีโรคประจำตัว เช่น มีประวัติแพ้อาหาร แพ้อากาศ  หืด หรือไม่ มีประวัติสัมผัสโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจใดๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่  หรือ วัณโรคภายในครอบครัวมาก่อนบ้างหรือไม่ หรือสิ่งแวดล้อมอย่างเช่น คนในบ้านสูบบุหรี่ หรืออาศัยอยู่ในโรงงาน หรือแหล่งสารเคมีใดๆ หรือไม่ เพื่อใช้ข้อมูลประกอบการตรวจร่างกายทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่าง  

หากประวัติและการตรวจร่างกายยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ จำเป็นต้องตรวจค้นทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้ 

  • ตรวจเลือด  
  • ตรวจน้ำมูก/เสมหะ  
  • ตรวจหัวใจและหลอดเลือด  
  • เอกซเรย์ระบบทางเดินหายใจ  
  • ตรวจสมรรถภาพปอด  
  • ตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ  

การรักษาโรคไอเรื้อรัง

การรักษาอาการไอเรื้อรัง แพทย์จำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดการไอ หลังจากซักประวัติและตรวจอย่างละเอียด แพทย์จะพอที่จะทราบสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้มีอาการไอ จากนั้นจะเริ่มให้การรักษาที่ตรงจุด  ซึ่งโดยปกติอาการไอจะทุเลาภายใน 1 ถึง 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค 

ตัวช่วยการรักษา พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกลับไปดูแล ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการไอ  

  • ทานอาหารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง กรอบ อาหารทอดหรืออบกรอบ 
  • ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำในอุณหภูมิปกติ เลี่ยงน้ำเย็น 
  • ให้เด็กออกกำลังภายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 
  • ให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ 8 ชั่วโมง 
  • เลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงให้ห่างไกลสถานที่ที่มีสารเคมี ควัน และมลพิษ 

การป้องกันไม่ให้ไอเรื้อรัง

น้ำมูกและเสมหะไหลลงหลอดลมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ลูกไอ การล้างจมูกจะช่วยให้ไม่มีน้ำมูกตกค้างในโพรงจมูก ไม่กระตุ้นการไอ  ลดโอกาสไอเรื้อรัง นอกจากนั้นในคนที่เป็น หืด หรือตรวจพบว่าเป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจควรใช้ยาควบคุมอาการสม่ำเสมอ และ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นไม่ให้อาการกำเริบ