หรือเราจะเป็น…โรคหลอดเลือดหัวใจ

หรือเราจะเป็น…โรคหลอดเลือดหัวใจ

HIGHLIGHTS:

  • หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย สมาชิกคนอื่นในครอบครัวจะมีความเสี่ยงด้วย
  • โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเฉียบพลันมีโอกาสทำให้เสียชีวิตสูง อาการเบื้องต้นที่มักพบ คือ เจ็บแน่นหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก ใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่สะดวก ต้องรีบนำคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
  • เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ( CT Scan 640 slice ) สามารถตรวจวัดปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ได้เร็ว ภาพที่ได้ชัดเจน ไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ

คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจนั้นมีหลายประเภท แต่ที่พบได้บ่อยคือ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจนั้น มีทั้งที่ควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ คือ

  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • การสูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย สมาชิกคนอื่นในครอบครัวจะมีความเสี่ยงด้วย
  • อายุที่เพิ่มขึ้น (ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ)
  • เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือน

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

เกิดจากการมีไขมันและหินปูนไปพอกอยู่ภายในหลอดเลือดแดงจนเกิดการอุดตัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเฉียบพลัน

มีโอกาสทำให้เสียชีวิตสูงถ้าไม่รีบมาพบแพทย์ คนไข้อาจมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก โดยมีอาการรุนแรงมากขึ้นแม้ขณะไม่ได้ออกกำลังกาย อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่สะดวกร่วมด้วย เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ดังนั้น จะต้องรีบนำคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั้งแรก เพื่อทำการเปิดหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ โดยการให้ยาสลายลิ่มเลือด และทำบอลลูนขยายหลอดเลือด

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันชนิดเรื้อรัง

จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นๆ หายๆ ซึ่งอาการมักสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย เช่น การเดิน หรือการขึ้นบันได อาจมีอาการเจ็บแน่นบริเวณกึ่งกลางหน้าอกแต่พอได้นั่งพักอาการก็จะหายไป และบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปหัวไหล่ซ้ายขึ้นไปถึงกรามด้วย หากเกิดอาการเหล่านี้จะต้องรีบมาพบแพทย์

ทำไมต้องค้นหาคนที่มีความเสี่ยง

  • เพราะการป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้ง่ายๆ และทำได้ทุกคน ไม่ว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อย เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารไขมัน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด งดสูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้าเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานจะได้ปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองมากขึ้น และทานยาป้องกันที่เหมาะสม
  • การตรวจวัดปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ใช้เวลาตรวจรวดเร็ว ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ความเร็วสูง ( CT Scan 640 slice )และ ไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ ภาพที่ได้จากการตรวจวิธีนี้จะมีความคมชัดเนื่องจากเครื่องมีความเร็วในการจับภาพสูงมาก สามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต้นได้ดี สามารถบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจได้ แม้ในปริมาณที่น้อย จึงเป็นการตรวจที่หาภาวะความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มต้น

หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย ก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?