ในกรณีที่เป็นไม่มาก การรักษาหลัก คือ การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ร่วมกับการรับประทานยา ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้วต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการพอกตัวของไขมันเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย
ในกรณีที่มีอาการมาก คือ เส้นเลือดตีบมากทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง คนไข้ต้องได้รับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การสวนหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ตัน บ้างหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงเพียงใด ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ดีเพียงใด อีกทั้งยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่างๆ ของหัวใจได้ด้วย สามารถทำได้ 2 วิธีคือ การสวนหัวใจผ่านทางขาหนีบ (Femoral Artery) และสวนหัวใจผ่านทางข้อมือ (Radial Artery) โดยแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความชำนาญและความถนัดของแพทย์
เมื่อทำการสวนสีหัวใจดูแล้ว หากพบว่าหลอดเลือดตีบหรือตันตรงไหน ก็จะทำการรักษาโดยการทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด การทำบอลลูน คือ การใส่ขดลวดเพื่อถ่างหรือดันไขมันสะสมที่มาขวางทางเดินของหลอดเลือดอยู่ ทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันโล่งขึ้น เลือดสามารถไหลผ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น
ส่วนในรายที่มีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง มักใช้วิธีการผ่าตัดทำบายพาส โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้ายหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ
สำหรับบุคคลที่แพทย์สงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ Calcium Score CT ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์จะสามารถนำข้อมูลจากผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาช่วยในการตัดสินใจ เพื่อวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายไปโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคหัวใจได้