ปัญหาลูกกินยาก

ปัญหาลูกกินยาก

เมื่อถึงเวลาอาหารของลูกน้อย คุณแม่หลายท่านจะเครียดมาก… ทั้งเลือกกิน กินยาก สารพัดเรื่องยากๆ เข้าจู่โจมให้คุณแม่ค้นหากลยุทธ์เข้าหลอกล่อต่างๆ นานา ทั้งขู่ ทั้งปลอบ บ้างถึงขั้นขอร้องเจ้าหนูน้อยเลยก็มี แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ในเด็กหลายๆ ราย พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะสร้างปัญหาในขณะทานอาหารอย่างที่ผู้ปกครองเข้าใจ แท้จริงแล้วสาเหตุที่ลูก “กินยาก” อาจมีต้นตอที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น

ปัญหาลูกกินยาก

การที่เด็กมีปฏิกิริยาเลือกรับประทานเฉพาะอาหารแค่บางชนิด และปฏิเสธอาหารอื่นๆ มาเป็นเวลานานๆ มากกว่า 2 ปีขึ้นไป อาจเป็นไปได้ว่าเด็กกำลังอยู่ในภาวะกลัวอาหาร (food phobia) หรือภาวะปฏิเสธอาหาร (food refusal)

ในขณะที่ร่างกายของเด็กเจริญเติบโต ต่อมรับรสก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ส่งผลให้อาหารบางชนิดที่เคยอร่อยถูกปากกลับรู้สึกไม่อร่อยแล้วเมื่อโตขึ้น หรือบางคนก็เป็นในทางตรงกันข้ามคือ กลับมาทานและชอบอาหารที่ตนเคยไม่ถูกใจมาก่อนหน้านี้ ด้วยความที่เด็กมีความไวต่อรสสัมผัสมากกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้พวกเขาเลือกทานแต่อาหารที่ตัวเองชอบเป็นพิเศษ

นิสัยหรือรูปแบบการรับประทานอาหารก็มีผลกระทบต่อการกินด้วยเช่นกัน หากเด็กได้รับอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป อาจจะทำให้รู้สึกอิ่มจนข้ามอาหารมื้อถัดไปได้ และอาจทำให้เด็กติดรสหวาน เลือกทานแต่ของที่ชอบจนเป็นสาเหตุให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารไขมันสูง เด็กจะรู้สึกอิ่มเป็นเวลานานและจะไม่ยอมทานอะไรอีกหลังจากนั้น ทั้งนี้ จะเห็นว่าเรื่องส่วนประกอบหรือเนื้อสัมผัสของอาหารล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมการกินของลูกน้อยทั้งสิ้น

ผู้ปกครองบางท่านเป็นห่วงลูก กลัวว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคอ้วน หรือโรคอื่นๆ ที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากอาหาร จนไปจำกัดอาหารชนิดนั้นๆ ออกจากมื้ออาหารของเด็กๆ อาทิ นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เป็นต้น แต่ทราบหรือไม่ว่าการกระทำเช่นนี้อาจทำให้เด็กเกิดภาวะขาดแคลเซียมและโปรตีน และสามารถพัฒนาเป็นโรคกลัวอาหารได้ในอนาคต

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ลูกเป็นเด็กเลือกกินหรือกินยาก และเป็นสาเหตุที่สำคัญคือ ปัญหาทางสุขภาพ ลูกน้อยอาจปฏิเสธอาหารเพราะมีอาการปวดท้อง โรคกระเพาะ แผลในกระเพาะอาหาร โรคท้องผูก ปัญหาเกี่ยวกับลำคอและหลอดอาหาร เช่น กลืนไม่สะดวก หรือหลอดอาหารอักเสบ เหล่านี้ล้วนอาจสร้างความเจ็บปวดให้ลูกน้อยเกินกว่าจะอยากรับประทานอะไร แต่เขากลับไม่สามารถบอกเป็นคำพูดได้จึงใช้วิธีปฏิเสธอาหารแทน เพื่อสื่อให้ผู้ใหญ่รับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น สำหรับกรณีที่ฟันของเด็กกำลังเริ่มขึ้น หรือในเด็กที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กก็จะไม่ยอมรับประทานอาหารหรือมักอาเจียนทันทีหลังกินอาหารเข้าไป ในส่วนน้อย กรณีโรคทางระบบประสาท เช่น โรคออทิสติก สามารถมีผลกระทบต่อการกินของเด็กได้มากถึง 80% เลยทีเดียว

ในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจหาความผิดปกติได้จากอาการต่างๆ เช่น อุจจาระของลูก หากอุจจาระแข็งสื่อได้ว่าเด็กขาดสารน้ำและใยอาหาร ยิ่งถ้าท้องของลูกพองโตอาจหมายถึงระบบทางเดินอาหารเกิดการอุดตัน แต่ถ้าท้องของลูกแบนราบเป็นปกติ สาเหตุก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากความผิดปกติทางด้านอารมณ์ บางกรณีเด็กอาจใช้อาการปวดท้องเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธอาหารที่ตนเองไม่อยากกิน ในกรณีที่ลูกไม่ยอมกินอาหารหลังลองกินไปแล้ว 2-3 คำ อาจหมายความว่าลูกไม่ชอบอาหารจานนั้น หรืออาจเกิดจากลูกมีอุจจาระแน่นเต็มท้อง หรือเป็นเพราะลูกแพ้อาหารประเภทนั้น เป็นต้น การวินิจฉัยโรคจึงเป็นเรื่องยากเพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถอธิบายอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้อย่างชัดเจน ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูกเพื่อตรวจเช็คสุขภาพของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากไม่แน่ใจการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับคำแนะนำบนพื้นฐานทางการแพทย์ หากเกิดความผิดปกติเด็กจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดโอกาสปัญหาลุกลามจนถึงขั้นขาดสารอาหารและเจ็บป่วยรุนแรงได้

การวินิจฉัยและรักษาโรค

การวินิจฉัยหาสาเหตุอาการเลือกกินอาหารและกินยากของลูกน้อยจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสุขภาพร่างกาย ในบางกรณีแพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มเติมหากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจแบบพื้นฐาน  โรคต่างๆ เช่น โรคตับอักเสบ โรคกรดไหลย้อน และทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาจทำให้ลูกน้อยไม่มีความอยากอาหาร และทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดได้ว่าลูกมีนิสัยเลือกกินอาหารและเป็นเด็กกินยาก  เพื่อให้การรักษาประสบผลสำเร็จคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการและเข้ารับการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่ลูกน้อยเป็น

การเลือกกินอาหารและอาการกินยากของลูกน้อยอาจนำไปสู่วงจรที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้ การเลือกกินอาหารสามารถก่อให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้เด็กไม่มีความอยากอาหารและไม่สนใจอาหารที่เคยกินตามปกติ ดังนั้น เด็กต้องได้รับการรักษาทันทีหากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร  ในบางครั้งเด็กก็ไม่ยอมกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่เขาต้องการ แพทย์จึงอาจแนะนำให้กินวิตามินหรืออาหารเสริมแทน

การป้องกัน

การป้องกันไม่ให้เด็กเกิดพฤติกรรมกินยากจนติดเป็นนิสัย หรือมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อร่างกายเป็นหนทางที่ดีที่สุด สิ่งหนึ่งที่ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำได้ คือ การฝึกนิสัยและพฤติกรรมการกินให้แก่ลูกน้อยตั้งแต่เนิ่นๆ  ตัวอย่างเช่น เด็กควรคุ้นเคยกับการนั่งกินอาหารร่วมกับครอบครัวตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เนื่องจากเด็กจะมีแนวโน้มปฎิเสธอาหารน้อยลงถ้าเขาเห็นคนในครอบครัวทานอาหารเหมือนกันหมด และพยายามคำนึงถึงส่วนประกอบของอาหาร ไม่ควรเตรียมอาหารที่หวาน มัน แข็ง หรือกรอบจนเกินไป

นอกจากนี้ในหนึ่งมื้ออาหารของลูกน้อยควรมีความหลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้รสสัมผัสของพวกเขา และยังช่วยให้เด็กๆ ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ถ้าการเลือกกินอาหารของลูกเกิดจากพฤติกรรม เด็กจะเริ่มแสดงอาการหลังอายุ 2 ขวบ ในช่วงวัยนี้เด็กมักชื่นชอบการกิน ดังนั้น รูปลักษณ์และรสชาติของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาหารที่มีสีสันหรือตกแต่งน่ารักดึงดูดใจจะช่วยให้เด็กอยากกินมากขึ้น นอกจากนี้การแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ ก็จะช่วยให้เด็กไม่อิ่มเกินไป หรือแม้แต่การเปลี่ยนวิธีปรุงอาหารก็อาจช่วยให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อและทานได้มากขึ้น เช่น ทำอาหารจากผักชนิดเดิมแต่ปรุงรสด้วยวิธีการใหม่หรือสูตรใหม่ก็ทำให้อาหารเปลี่ยนไปจากเดิม อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันแต่ช่วยในเรื่องการกินของลูกได้คือ การขับถ่ายทุกวันและมีวินัยในการขับถ่าย การฝึกให้ลูกนั่งส้วมอย่างถูกวิธีจะช่วยให้เด็กขับถ่ายเป็นปกติ รู้สึกสบายท้อง และรับประทานอาหารได้ง่ายกว่าเดิม

สุดท้ายนี้อยากฝากว่า อย่าพยายามฝืนหรือยัดเยียดให้ลูกกินอาหารที่เขาไม่ชอบ เนื่องจากความรู้สึกกังวลและถูกกดดันจะถูกถ่ายทอดไปยังตัวเด็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ประสบการณ์การรับประทานอาหารของลูกเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความสุข และสนุกสนาน

Photo Credit: CarbonNYC [in SF!] via Compfight cc

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?