โรคที่มากับหน้าหนาว ที่มักเกิดกับเด็กๆ ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง มีทั้งแบบติดต่อและไม่ติดต่อ ซึ่งหนีไม่พ้นโรคยอดฮิตอย่าง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อีสุกอีใส อุจจาระร่วง
เพราะอุณหภูมิความเย็นในอากาศ ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อชีวิตและการอยู่รอดของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเด็กเล็กวัยไม่เกิน 3 ขวบ รวมไปถึงผู้สูงอายุ คนป่วย ที่ร่างกายไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานต่ำ สามารถติดและเจ็บป่วยได้ง่าย
อาการของไข้หวัดไม่สร้างความกังวลมากนัก แต่อาจมีอาการคอยรบกวน ทำให้ไม่สบายตัว คัดจมูก มีน้ำมูก คันคอ ไอและจาม มักไม่มีไข้ แต่อาจปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย ซึ่งในหน้าหนาวเด็กจะป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่ายและบ่อยกว่าฤดูอื่นๆ ถึง 2 เท่า
ปัจจุบันโรคไข้หวัดยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เพราะมีสาเหตุจากไวรัสได้หลายชนิด ไข้หวัดจะหายได้เอง พ่อแม่ควรให้เด็กพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำ เช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อระบายความร้อนในร่างกายหากมีไข้ รวมถึงต้องหมั่นกินยาลดไข้ ยาแก้ไอ และยาลดน้ำมูก ตามอาการ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซี จะช่วยป้องกันไข้หวัดได้ดี ปลูกฝังเรื่องการออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่เฉียบพลัน เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) มีอยู่ 2 ชนิด คือ A และ B โดยเมื่อเด็กเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการหนาวสั่น ไข้สูง เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง บางคนอาจคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ลดอุณหภูมิร่างกายโดยดื่มน้ำให้มากๆ เช็ดตัวบ่อยๆ รับประทานยาตามอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ โดยเด็กสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนและจำเป็นต้องรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
ปอดบวมมักจะพบมากในเด็กอายุตั้งแต่ 5 - 10 ปี มีสาเหตุจากภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ทำให้ถุงลมเกิดมีหนองและสารน้ำจนเนื้อปอดไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ทำให้มีอาการไอ คัดจมูก จาม มีเสมหะมาก ไข้สูงติดต่อกันนานกว่า 2 วัน มีอาการหนาวสั่น แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก และที่ร้ายที่สุดคืออาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
เมื่อพ่อแม่สังเกตได้ว่าเด็กมีอาการตามที่กล่าวมา ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที หากแพทย์ตรวจพบว่าเด็กมีอาการปอดบวมจะได้ทำการรักษา สั่งยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลม เพื่อให้เด็กอาการดีขึ้นและหายได้โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเด็กเป็นปอดบวม ให้พ่อแม่รีบพาเด็กเข้ารับการรักษา ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และให้เด็กดื่มน้ำอุ่นมากๆ อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวก และสำหรับเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมตั้งแต่ช่วงแรกเกิด
หัด (Measles) เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อรูบีโอลาไวรัสที่ระบาดช่วงปลายฤดูหนาว เด็กตั้งแต่อายุ 2 - 12 ขวบต้องระวังโรคหัดเพราะติดต่อได้ง่าย โดยพาหะที่ทำให้ติดเชื้อหัดเกิดได้จากทั้งการไอ จามรดกันโดยตรง ละอองเสมหะในลมหายใจ น้ำมูก น้ำลาย ที่ลอยในอากาศ อาการของหัดเหมือนกับไข้หวัดธรรมดา คือ น้ำมูกไหล ไอแห้ง ตาจมูกแดง ไข้สูง และเมื่อมีไข้ติดต่อกัน 3-4 วัน จะทำให้มีผื่นแดง มีตุ่มใสในปาก กระพุ้งแก้ม ฟันกรามบน แต่เมื่อผื่นออกแล้วไม่เกิน 2 วัน อาการก็จะดีขึ้น
ปัจจุบันโรคหัดยังไม่มียารักษา จะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจได้สั้น หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ชัก พ่อแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
เด็กอายุ 9-12 เดือน ควรได้รับวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมันและคางทูม เพื่อป้องกันโรค และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 6 ขวบ
อุจจาระร่วงเกิดจากเชื้อโรต้าไวรัส เป็นอีกหนึ่งโรคที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกอายุ 6-12 เดือน ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังมีภูมิต้านทานต่ำ อุจจาระร่วงมักมาพร้อมฤดูหนาว ซึ่งสาเหตุหลักของอุจจาระร่วงเกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งเกิดการระบาดยาวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ปีถัดไป
เพราะเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปากผ่านกระเพาะอาหารแล้วไปแบ่งตัวที่ลำไส้ โดยอาการร่วมของอุจจาระร่วง จะมีไข้ ท้องเสียรุนแรง อาเจียนมาก และน่าเป็นห่วงสำหรับเด็กบางรายที่เสียน้ำมากจนช็อกเสียชีวิต
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาอุจจาระร่วง ต้องรักษาตามอาการ โดยพ่อแม่ต้องป้องกันไม่ให้เด็กเกิดการขาดน้ำ ให้จิบเกลือแร่บ่อยๆ สำหรับเด็กที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้ อาจจำเป็นต้องพามารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส โดยรับได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหรือลดความรุนแรงของโรค โดยวัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน
สุกใส หรืออีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาที่ระบาดในช่วงหน้าหนาวปลายปีจนถึงช่วงเดือนมกราคม โดยติดต่อผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำใส ของใช้ต่างๆ โดยไวรัสวาริเซลลามีระยะฟักตัว 10 - 20 วัน และพบมากในเด็กอายุระหว่าง 5 - 15 ปี และเกิดเด็กที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
สุกใส เป็นโรคที่ต้องรักษาตามอาการเช่นกัน โดยให้เด็กกินยาลดไข้ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่แคะ แกะ เกา บริเวณตุ่ม เพราะทำให้เป็นแผลและอักเสบได้ เด็กที่เป็นสุกใสไม่ต้องพบแพทย์ เพราะอาการไม่รุนแรง และไม่มีโรคแทรกซ้อน
เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ต้องได้รับวัคซีนป้องกันไข้สุกใส และสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนและยังไม่เคยเป็น ก็สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันสุกใสได้เช่นกัน
ดังนั้น ช่วงหน้าหนาวนี้อยากให้พ่อแม่เฝ้าระวังโรคเหล่านี้ให้ดี หากลูกเข้าเกณฑ์รับวัคซีนก็ให้พาไปรับที่โรงพยาบาล จะได้มีภูมิคุ้มกัน แข็งแรง ไม่ป่วย หรือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่